วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เกาะเซนติเนล(ตอนที่๒) : บันทึกโบราณ ชาวกรุงศรีฯ พบชาว เซนติเนล ตำนานมนุษย์เปลือยกินคน-ระดมธนูยิงใส่

บันทึกโบราณ ชาวกรุงศรีฯ พบชาว เซนติเนล ตำนานมนุษย์เปลือยกินคน-ระดมธนูยิงใส่

จากกรณี นายจอห์น อัลเลน เชา มิชชันนารี ชาวอเมริกันอายุ 27 ปีถูกชนเผ่าเซนติเนลยิงธนูสังหารเสียชีวิตตั้งแต่ 17 พ.ย. หลังนายเชาลักลอบพายเรือเข้าไปยังเกาะนอร์ทเซนติเนล ในหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางการอินเดีย ทำให้ชื่อของชนเผ่าเซนติเนล และเกาะนอร์ทเซนติเนล อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
สำหรับ ชาวเซนติเนล ชนพื้นเมืองบนเกาะนอร์ทเซนติเนลที่ยึดมั่นกับจุดยืนเรื่องสังคมปิด ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกถือเป็นอีกหนึ่งชนพื้นเมืองไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงปิดตัวเองจากโลกภายนอกมาจนถึงปัจจุบันในยุคที่โลกไร้พรมแดนจากเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าพวกเขารักษาวิถีชีวิตแบบนี้มายาวนานกว่า 30,000 ปี บางแหล่งเชื่อว่าอาจมากกว่า 50,000 ปี
ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
ข้อมูลทางประชากรบนเกาะยังไม่แน่ชัด แต่แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่คาดคะเนว่าจำนวนชนพื้นเมืองที่อาศัยบนเกาะน่าจะมีอยู่ระหว่าง 50-150 ราย ข้อมูลจากการสำรวจ (จากระยะปลอดภัย) เมื่อปี 2011 พบชนพื้นเมืองที่อยู่ในวิสัยทัศน์ 15 ราย คาดว่าจำนวนประชากรน่าจะเริ่มลดลง
ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
สำหรับการใช้ชีวิต เชื่อว่าประทังชีวิตด้วยการล่าหมูป่า และบริโภคอาหารทะเลอย่างหอยลาย ผลไม้ และน้ำผึ้ง รายงานข่าวจากเดลิเมล์ อ้างว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้มีกิจกรรมทางเพศบนชายหาดอย่างเปิดเผย และแน่นอนว่าพวกเขาปฏิเสธการต้อนรับแขกส่วนใหญ่ และมักขับไล่อะไรก็ตามที่มีท่าที “รุกราน” ด้วยลูกศรอาบยาพิษ หรืออาวุธอย่างมีดขนาดใหญ่
ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
เป็นที่รู้กันดีว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ใช้วิธีรุนแรงตอบโต้กับสิ่งต่างๆ จากภายนอก ผู้ที่พยายามเข้าไปถ่ายทำสารคดีเมื่อปี 2517 ถูกยิงธนูใส่ขา และครั้งก่อนหน้าเหตุการณ์ของจอห์น คือเมื่อทางการอินเดียใช้เฮลิคอปเตอร์บินรอบหมู่เกาะเพื่อสำรวจผลกระทบหลังสึนามิเมื่อปี 2547 ก็สามารถบันทึกภาพชนพื้นเมืองเล็งธนูมาที่เฮลิคอปเตอร์
ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ชาวเน็ตยังพูดถึงเกาะนอร์ทเซนติเนล ว่าคนไทยได้บันทึกถึงการมีอยู่ของเกาะแถบนี้มานานแล้ว ในชื่อ เกาะนาควารี
ข้อมูลจากมติชนออนไลน์ ระบุว่า ในสมุดภาพไตรภูมิทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, และยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลังกา ต้องมีชื่อและภาพ “นาควารี เกาะคนเปลือย” ทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญระหว่างทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น
สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีคณะสงฆ์จากราชอาณาจักรสยามเดินทางไปประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกา เมื่อ พ.ศ. 2298 ต้องไปทางเรืออ้อมแหลมมลายูผ่านเมืองมะละกา มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่าต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ แล้วเล่าเรื่องเกาะนาควารีไว้ด้วยว่า
“ครั้นถึงตรงปากถ้ำมะริดแล้วบ่ายหน้าสำเภาไปข้างตะวันออก แล่นหลีกเกาะอันทมันไป วัน 1 กับคืน 1 ถึงเกาะนาควารี…” “ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”
จากเกาะนาควารี สำเภากำปั่นแล่นไป 7 วัน 7 คืนก็มาถึง “ถนนพระราม” ซึ่งเป็นแนวหินเชื่อมระหว่างอินเดียใต้ (ทมิฬ) กับลังกา (สิงหล)
ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แผ่นดิน ร.2 ก็ส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกเมื่อ 2357 ให้พระสงฆ์อาศัยเรือค้าช้างของพ่อค้าลงเรือที่ควนธานี เมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง แล้วไปเกาะนาควารี ใช้เวลา 6 วัน มีบันทึกดังนี้
“แลเกาะนาควารีย์นั้น ผู้คนอยู่เป็นอันมาก คนเหล่านั้นไม่กินข้าว กินแต่เผือกมันแลหมากพร้าว ครั้นเห็นเรือเข้าไปใกล้เกาะแล้ว ก็เอาเผือกมันหมากพร้าวกล้วยอ้อยลงมาแลกยา”
บันทึกของพระสงฆ์ไปลังกายังบอกอีกว่า “แลเกาะเล็กน้อยมีอยู่ใกล้เคียงเกาะนาควารีย์ที่แลไปเห็นนั้น จะนับประมาณมิได้” และนับเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองตรัง 18 วัน ก็ถึงเมืองลังกา แล้วบันทึกถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับคนบนหมู่เกาะอันดามันว่า
“คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิงที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไมโครไบโอม (Microbiom)

“ไมโครไบโอม” (Microbiom)

ปลอดโรคภัย เมื่อให้อาหารดีแก่ จุลินทรีย์ในลำไส้


เราถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าให้ทานผักเยอะๆ เพราะผักมีประโยชน์ และช่วยให้ขับถ่ายง่าย แม้ในความเป็นจริงแล้วน้ำย่อยของมนุษย์จะไม่สามารถย่อยเส้นใยของผักผลไม้ได้ก็ตาม และกากใยดังกล่าวจะถูกขับออกมาในรูปของอุจจาระในที่สุด แต่เหตุใดผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยังคงยืนยันให้เรารับประทานผักกันต่อไป?
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคำตอบบางส่วนแล้วว่าทำไมคนเราถึงจำเป็นต้องกินผัก คำตอบอยู่ภายในลำไส้ของเราเอง พวกมันคือ “จุลินทรีย์” สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาศัยอยู่รวมกันเป็นนิคมขนาดใหญ่เรียกว่า “ไมโครไบโอม” (Microbiom) ในทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ ตั้งแต่ในระบบทางเดินอาหาร, ผิวหนัง, ช่องปาก ไปจนถึงช่องคลอด

จุลินทรีย์มาจากไหน?
บนเวที Ted Talk เมื่อปี 2015 ศาสตราจาย์ร็อบ ไนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ในมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด บอกเล่ามิตรภาพอันเก่าแก่ระหว่างตัวเรากับเพื่อนแท้ที่ไม่เคยจากไปไหนนับตั้งแต่วันที่คุณเกิดมา “ประชาคมจุลินทรีย์แรกๆ ของเรานั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเกิด หากคุณคลอดตามธรรมชาติ คุณจะได้รับจุลินทรีย์จากช่องคลอดของแม่ แต่หากคุณคลอดด้วยการผ่าท้อง คุณจะได้รับจุลินทรีย์จากผิวหนังแทน” จากนั้นในเวลาต่อมาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จุลินทรีย์ต่างๆ จากแม่และสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็จะเริ่มเข้าไปก่อตั้งถิ่นฐานในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงในระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน โดยในระยะสามปีแรกของชีวิต จุลินทรีย์ในทารกจะเพิ่มจำนวนเป็นสิบเท่า และในที่สุดก็จะมีความหลากหลายคล้ายคลึงกับจุลินทรีย์ที่พบในร่างกายผู้ใหญ่


เรื่องนี้สำคัญอย่างไร? ไนท์ชี้ว่า การคลอดตามธรรมชาติจะช่วยให้ทารกได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในทารก เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่คลอดด้วยการผ่าท้องแล้ว นั่นทำให้ทารกที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคอ้วน หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ในน้ำนมแม่มีมีองค์ประกอบที่สำคัญคือโมเลกุลน้ำตาลสายสั้น (human milk oligosaccharides (HMOs)) หรือทีเรียกว่าพรีไบโอติก (prebiotics) ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กับร่างกายที่เรียกว่าโพรไบโอติคส์ (probiotics) ดังนั้นการได้รับน้ำนมแม่จึงเป็นการเสริมและเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไปในตัว ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าควรให้เด็กทารกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
ดูรายชื่ออาหารที่มีพรีไบโอติกได้ ที่นี่
จุลินทรีย์ในลำไส้
ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารจะอาศัยอยู่ในชั้นไบโอฟิล์มที่เคลือบภายในของลำไส้
ขอบคุณภาพจาก https://www.healthline.com/nutrition/gut-microbiome-and-health

มหัศจรรย์จุลินทรีย์
ไมโครไบโอมมีความหลากหลายมากมายมหาศาล แค่ในร่างกายของคนๆ เดียว ไมโครไบโอมบริเวณซอกรักแร้ กับไมโครไบโอมที่เท้าก็ยังแตกต่างกันมาก ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์เปรียบเปรยว่าเหมือนนำระบบนิเวศขั้วโลกมาเทียบกับป่าฝนเขตร้อน และด้วยความหลากหลายนี้เองทำให้ยากที่จะระบุว่านิคมไมโครไบโอมที่ดีควรเป็นอย่างไร
ทว่าในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ในมนุษย์ได้จำนวนหนึ่ง จากการศึกษาพวกเขาพบว่าแท้จริงแล้วประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้นี้มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของเราอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น บุคคลที่มีจุลินทรีย์ในกระพาะอาหารชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) มีโอกาสเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร เนื้องอกและมะเร็งในกระเพาะอาหาร มากกว่าคนที่ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้ หรือหากสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้รับความเสียหาย เช่น มีจุลินทรีย์บางชนิดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป คุณก็อาจมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบ ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง  โรคหัวใจ โรคอ้วน หรืออัลไซเมอร์เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์ประมาณกันว่ามีจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรามากกว่า 5,000 สายพันธุ์ จุลินทรีย์เหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอวัยวะภายในของเราเอง เพราะพวกมันช่วยย่อยอาหาร ดีงสารอาหาร และพลังงานออกมาให้แก่เรา แลกกับที่อยู่อาศัย จากงานวิจัยในสัตว์แสดงให้เห็นว่า สัตว์ที่เติบโตขึ้นมาในระบบปิด ปราศจากจุลินทรีย์ หรือที่เราเรียกกันว่าสะอาดเกินไป มักไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีปัญหากับระบบย่อยอาหาร
จุลินทรีย์ในลำไส้
ภาพแบคทีเรียที่พบได้ในอุจจาระ (ซ้าย) และแบคทีเรียที่ก่อโรคลำไส้อักเสบชื่อ Clostridium difficile (ขวา) ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่าย หรือกินอุจจาระของผู้ที่มีสุขภาพดี ซึ่งมีแบคทีเรียที่แสดงในรูปซ้ายอาศัยอยู่
ขอบคุณภาพจาก Wikipedia-Contributors (2014). Fecal bacteriotherapy และ Smith, M.B., Kelly, C., and Alm, E.J. (2014). Policy: How to regulate faecal transplants. Nature 506, 290-291
งานวิจัยในปี 2018 โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้นอกเหนือจะมีบทบาทควบคุมสุขภาพของเราแล้ว ยังส่งผลต่ออารมณ์อีกด้วย พวกเขาทดลองกับหนูทดลองโดยให้กินอาหารไขมันสูง และพบว่าหนูที่อ้วนแสดงสัญญาณของความวิตกกังวลและซึมเศร้ามากกว่าหนูที่ผอม เนื่องจากพวกมันใช้เวลาแอบอยู่ในกล่องมืดๆ นานกว่า ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าจุลินทรีย์ในลำไส้น่าจะมีผลต่อเรื่องนี้ ต่อมาพวกเขาให้ยาปฏิชีวนะซึ่งมีผลคร่าชีวิตจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร และพบว่าพฤติกรรมของหนูกลับมาเป็นปกติ ทว่าปัญหาก็คือปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจุลินทรีย์ชนิดใดที่เป็นประโยชน์และอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะจึงมีความเสี่ยง เนื่องจากไปทำลายจุลินทรีย์ที่ดีและไม่ดีทั้งหมด

กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ประโยคเตือนไม่ให้เราตามใจปากมากเกินไปจนอ้วน ทว่าจะหาเหตุผลใดมาอธิบายสำหรับคนที่กินมากเท่าไหร่น้ำหนักตัวก็ไม่เพิ่มขึ้นตาม หรือในบางคนแค่กินอาหารตามปกติกลับอ้วนเอาๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นักวิทยาศาสตร์มุ่งความสนใจไปที่ไมโครไบโอม และเชื่อกันว่าพวกมันคือหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อโรคอ้วนอย่างสำคัญ โดยพบว่าไมโครไบโอมบางชนิดมีประสิทธิภาพในการดึงเอาแคลอรี่ได้ดีกว่าไมโครไบโอมชนิดอื่น นั่นหมายความว่าเป็นไปไดหรือไม่ที่คนอ้วนจะมีจุลินทรีย์ที่ดึงพลังงานจากสารอาหารได้ดีเยี่ยม ในขณะที่คนผอมก็ได้รับพลังงานที่น้อยเกินไป เพราะไมโครไบโอมในระบบย่อยอาหารของพวกเขาทำงานได้แค่นั้น
ปี 2006 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันทดลองนำจุลินทรีย์ของหนูที่ถูกปลุกถ่ายพันธุกรรมให้เป็นโรคอ้วนใส่เข้าไปในหนูปกติ ผลปรากฎว่าหนูกลุ่มที่สองกลายเป็นโรคอ้วนตาม นับเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ว่าโรคต่างๆ สามารถถ่ายทอดทางไมโครไบโอมได้
ทว่าหากคิดว่านี่เจ๋งแล้ว ไมโครไบโอมยังทำสิ่งที่น่าทึ่งได้มากกว่านั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้อาจสื่อสารกับสมองของเราได้ ไอเดียดังกล่าวนี้มาจากข้อสังเกตที่พบว่าสารเซโรโทนินซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท มีบทบาทควบคุมความหิว และอารมณ์ ถูกผลิตจากลำไส้ถึง 90% และไมโครไบโอมน่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
จุลินทรีย์ในลำไส้
ไมโครฟอสซิลของแบคทีเรียอายุ 4.3 พันล้านปี ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
ขอบคุณภาพจาก https://mgronline.com/science/detail/9600000021687
มีความเป็นไปได้อีกว่า การที่สมองสั่งการเราว่าให้เลือกกินอะไรนั้น แท้จริงแล้วอาจมาจากไมโครไบโอมเหล่านี้ ในการทดสอบกับแมลงวันผลไม้ ชนิดของจุลินทรีย์ในร่างกายส่งผลต่ออาหารที่พวกมันอยากกินไปจนถึงคู่ที่อยากผสมพันธุ์ด้วย เราทราบแล้วว่าจุลินทรีย์ดั้งเดิมในลำไส้มาจากแม่ของเรา แต่จุลินทรีย์ที่จะอยู่กับเราตลอดไปนั้น แท้จริงแล้วมาจากอาหารที่เรากิน เมื่อไมโครไบโอมคือโลกใบจิ๋วที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ดังนั้นจึงมีจุลินทรีย์ที่ชอบกินผัก ชอบกินไขมัน ไปจนถึงพวกที่ชอบกินน้ำตาล หากเรากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็เป็นการให้อาหารจุลินทรีย์ที่ชอบกินอาหารพวกนั้นเหมือนกัน และเป็นการขยายจำนวนของจุลินทรีย์เหล่านั้นให้มีมากขึ้น ฉะนั้นแล้วหากคุณไม่อยากให้ลำไส้ของคุณกลายเป็นโลกที่ถูกยึดครองด้วยจุลินทรีย์ที่รักแต่น้ำตาลและไขมัน การกินอาหารที่หลากหลายคือตัวเลือกที่ดีในการคงไว้ซึ่งสุขภาพของตัวเราเอง ตลอดจนความหลากหลายของเพื่อนแท้ในร่างกายเรา
บรรดาจุลินทรีย์และแบคทีเรียเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกมาตั้งแต่ 3,500 ล้านปีก่อน ในขณะที่มนุษย์เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมาราว 2 แสนปีก่อนเท่านั้น เรียกได้ว่าเส้นทางของเราคือชั่วพริบตาเดียวในโลกของจุลินทรีย์ เป็นไปได้ว่าการเข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์คือวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้พวกมันอยู่รอดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าคุณจะรู้สึกยินดีหรือไม่ก็ตาม ข่าวร้ายก็คือไม่มีทางที่คุณจะกำจัดจุลินทรีย์ออกไปได้หมด พวกมันมีอยู่ทุกหนแห่ง และจะยังคงอยู่ต่อไปด้วยหนทางใหม่ๆ แม้ว่ามนุษยชาติจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม
ฉะนั้นแล้วในมื้ออาหารครั้งหน้าของคุณจึงไม่ใช่แค่ “กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น” อีกต่อไป หากการกินคือภารกิจใหญ่ที่คงรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์บนเส้นทางอันยาวนานของจุลินทรีย์ด้วย

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
– ร้อยละ 40 ของน้ำหนักอุจจาระเราคือ จุลินทรีย์
– ในร่างกายมนุษย์มีจุลินทรีย์รวมกันน้ำหนักราว 1.3 กิโลกรัม
– ร่างกายของเราคือที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์มากถึง 100 ล้านล้านเซลล์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 10 : 1
– ในร่างกายของเรามียีนตัวเองราว 20,000 ยีน แต่มียีนจุลินทรีย์ 20 – 200 ล้านล้านยีน
– สิ่งของที่เราแตะต้องนอกจากมีดีเอ็นเอเราแล้ว ยังมีดีเอ็นเอจุลินทรีย์ด้วย นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจับคู่เครื่องใช้กับเจ้าของได้แม่นยำราว 95% โดยดูจากจุลินทรีย์
– พรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกายพบมากในเส้นใยพืช, ผลไม้, ธัญพืช และของหมักดอง
– นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินได้ว่าบุคคลนั้นๆ จะป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหัวใจ หรือโรคอ้วนได้ด้วยการวิเคราะห์จุลินทรีย์แม่นยำกว่าการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (หมายความว่าพันธุกรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น สุขภาพของเราขึ้นอยู่กับจุลินทรีย์เป็นสำคัญ)

แหล่งข้อมูล
หนังสือ “Super Genes ยีนออกแบบได้” โดย นายแพทย์ดีพัค โชปรา ร่วมกับ ดร.รูดอล์ฟ อี. แทนซี
The human microbiome: why our microbes could be key to our health
ไมโครไบโอต้า จุลินทรีย์ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด
ไมโครไบโอม : เพื่อนแสนล้านชีวิตในร่างกายคน และสัตว์
‘จุลินทรีย์ในมนุษย์’ คีย์เวิร์ดสำคัญของทุกความป่วยไข้
‘จุลินทรีย์ในลำไส้’อาจเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนเเละอาการซึมเศร้า
Rob Knight: How our microbes make us who we are
How Bacteria Rule Over Your Body – The Microbiome
How the food you eat affects your gut – Shilpa Ravella

edit : thongkrm_virut@yahoo.com