วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

  หอสมุดบังเอิญพบ “หนังสืออาบยาพิษ” (3 เล่ม) อายุกว่า 400 ปี แต่พิษที่เคลือบนั้นไม่จางลงเลย

เมื่อปี 2018 นักวิจัยบังเอิญพบหนังสือโบราณ ที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-17 จำนวน 3 เล่ม ณ หอสมุดของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นเดนมาร์ค ระหว่างที่กำลังศึกษาหนังสือประวัติศาสตร์จากยุคกลาง พบว่าปกของหนังสือทั้ง 3 เล่ม ถูกเคลือบด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกยกให้เป็นคอลเลคชั่นหนังสือที่อันตรายที่สุดในโลก


โดยจุดเริ่มต้นของการค้นพบหนังสือชุดนี้ เกิดจากนักวิจัยทราบว่าห้องสมุดแห่งนี้ เก็บรวบรวมหนังสือจากยุคกลางที่ใช้กระดาษรีไซเคิลมาทำปกหนังสือเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระดาษรีไซเคิลเหล่านั้นล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เช่น สำเนากฎหมายของโรมัน เป็นต้น 

จนกระทั่ง พวกเขาพบกับหนังสือที่ปกถูกเคลือบด้วยสารสีเขียวบางอย่างจนมองไม่เห็นข้อความบนปก ด้วยความสงสัย จึงนำไปตรวจสอบด้วยการเอ็กซ์เรย์แบบ Micro-XRF เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมี ซึ่งมันจะช่วยให้หมึกที่อยู่ใต้สารสีเขียวเด่นชัดขึ้นจนสามารถอ่านได้


แต่ทว่านักวิจัยกลับพบสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า ก็คือสารสีเขียวที่เคลือบอยู่นั้นคือ สารหนู (Arsenic) หนึ่งในสารพิษที่อันตรายที่สุดในโลก ที่หากสัมผัสหรือสูดดม อาจทำให้เกิดมะเร็งหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่สารพิษชนิดนี้ก็ไม่ได้เสื่อมฤทธิ์ไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อวางยาหรือรอบสังหาร แต่ใช้เพื่อป้องกันแมลงมากินกระดาษ ทำให้สารที่ถูกเคลือบนั้นไม่เข้มข้นมากพอจะทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็นับว่ายังเป็นหนังสือที่อันตรายอยู่ดี ซึ่งปัจจุบัน ห้องสมุดได้เก็บหนังสือทั้งหมดไว้ในกล่องที่ปิดมิดชิดพร้อมป้ายเตือน และสำหรับเนื้อหาของปกหนังสือหลังจากผ่านการสแกนแล้ว พบว่ามันถูกเขียนด้วยภาษาละตินและยังไม่ได้รับการถอดความ แต่คาดว่าในอนาคต ทางห้องสมุดจะทำการเปิดเผยเนื้อหาในรูปแบบดิจิตอลครับ


เพิ่มเติม – ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 19 บริษัท Paris Green ผู้ผลิตสีรายใหญ่ในฝรั่งเศส ใช้สารหนูมาทำสีเขียวขาย เนื่องจากมันมีสีสันสดใสทนทาน ไม่จืดจางตามกาลเวลา โดยถูกนำใช้ในงานศิลปะ และสิ่งทอจำนวนมาก นั่นจึงเป็น 1 ในสาเหตุที่ว่าทำไมผลงานศิลปะหลาย ๆ ชิ้นที่แม้จะเก่าแก่แต่สีก็ยังคงสดแจ่ม นั้นหมายความว่า ผลงานศิลปะหลาย ๆ ชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้นล้วนแต่มีพิษทั้งสิ้น

Fact – ในปี ค.ศ.1980 มีนวนิยายเรื่อง The Name of the Rose ของ อุมแบร์โต เอโก นักเขียนชื่อดังชาวอิตาลี ที่เนื้อหาว่าเรื่องด้วยของการวางแผนฆาตกรรมในโบสถ์ ด้วยการเคลือบสารหนูบนปกหนังสือ ซึ่งใครก็ตามที่มาสัมผัสหรือเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ สารพิษจะติดไปกับนิ้วมือ และเมื่อใดก็ตามที่เผลอใช้มือหยิบจับอาหาร เช็ดจมูก สารพิษจะเข้าสู่ร่างกายและคน ๆ นั้นจะตายทันที

เครดิต : © Newspaper WordPress Theme by TagDiv


ค้นพบถ้ำ-ที่เป็นแหล่งกบดานสุดท้ายของ “มนุษย์นีเอนเดอร์ทัล” 
(ถูกปิดตายมานานกว่า 40,000 ปี)


นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยิบรอลตาร์ได้ทำการสำรวจ “ถ้ำแวนการ์ด” (Vanguard Cave) ซึ่งเป็นถ้ำ 1 ใน 4 ของกลุ่มถ้ำที่ประกอบกันเป็นโขดหินยิบรอลตาร์ (Rock of Gibraltar) เพื่อกำหนดขนาดที่แท้จริงของถ้ำและสำรวจห้องหับที่ยังคงอาจลงเหลืออยู่ภายในถ้ำ ทว่าล่าสุด พวกเขาก็ได้เจอห้องที่ถูกปิดตายมานานกว่า 40,000 ปี ซึ่งภายในมีหลักฐานของมนุษย์ “นีแอนเดอร์ทัล” อยู่ด้วย

ถ้ำแวนการ์ด

“มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” (Neanderthals) เป็นญาติสนิทของมนุษย์ยุคปัจจุบัน แต่สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว โดยในครั้งนี้นักโบราณคดีได้ค้นพบห้องที่ถูกปิดผนึกด้วยทรายและตะกอน และมีแนวโน้มว่ามนุษย์ยุคนีแอนเดอร์ทัลจะใช้ห้องดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยในช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ในทวีปยูเรเซีย หรือเมื่อ 200,000 ถึง 40,000 ปีก่อน

โดยห้องที่ค้นพบนั้น อยู่ตรงบริเวณหลังคาของถ้ำแวนการ์ด มีประตูเป็นโพรงที่ต้องคลานเข้าไปเท่านั้น ก่อนจะพบห้องขนาดยาว 13 เมตร สูง 1.8 เมตร ภายในเต็มไปด้วยหินงอก-หินย้อยจำนวนมาก ขึ้นอยู่บริเวณพื้นห้องและเพดานห้อง รวมทั้งซากของสัตว์หลายชนิด อาทิ แมวป่าลิงซ์, ไฮยีนา และแร้งกริฟฟอน นอกจากนี้ยังมีรอยขีดข่วนของกรงเล็บจากสัตว์ชนิดหนึ่งบนกำแพงห้อง อีกทั้งร่องรอยของการเกิดแผ่นดินไหวโบราณในห้องนี้ด้วย

ภาพจำลองของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

แต่สิ่งที่ดูจะทำให้นักโบราณคดีตื่นเต้นที่สุดคือ การค้นพบหอยทากทะเลในห้องดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วห้องนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 20 เมตร แถมเมื่อ 40,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลยังต่ำกว่าปัจจุบัน รวมถึงยังมีชิ้นส่วนกระดูกของแมวน้ำ วาฬ และโลมา ดังนั้น นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าการพบซากสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีความสามารถในการล่าสัตว์จากท้องทะเลได้

 ทั้งนี้ ในตลอดระยะเวลา 9 ปีของการสำรวจ นักโบราณคดีเคยพบเศษซากและร่องรอยการอยู่อาศัยที่น่าสนใจของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลหลายอย่าง เช่น ฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่น่าจะอายุประมาณ 4 ขวบ ซึ่งน่าจะถูกไฮซีนาจู่โจมและลากมากินข้างใน ตลอดจน อุปกรณ์ก่อไฟ เครื่องมือหิน เครื่องประดับ และชุดที่ทำจากซากสัตว์ รวมไปถึงร่องรอยการแกะสลักหินที่อาจเป็นงานศิลปะของมนุษย์ยุคแรก ๆ

(ภาพใหญ่) ภาพภายนอกของถ้ำที่รวมต่อกันเป็นโขดหินยิบรอลตาร์, (ภาพเล็กบน) รอยข่วนของสัตว์กินเนื้อที่ค้นพบในถ้ำ, (ภาพเล็กล่าง) รอยแกะสลักของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

ไคลฟ์ ฟินเลย์สัน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติยิบรอลตาร์กล่าวว่า “การค้นพบในครั้งนี้และตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ผู้คนมีต่อมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลว่าเป็นพวกสมองทึบ ดุร้าย และคล้ายกับลิง เพราะสิ่งที่เราค้นพบนั้นสะท้อนว่าพวกเขามีความสามารถมากพอที่จะทำเกือบทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สมัยใหม่ทำได้ ซึ่งนั่นคือตัวบ่งชี้ว่าพวกเขามีความเป็นมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการค้นพบเศษซากของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ มากมาย แต่ยังไม่มีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในครั้งนี้ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า การสำรวจของพวกเขาเป็นมากกว่าการค้นหาโครงกระดูก แต่มันเป็นการค้นหาว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเป็นใคร อาศัยอยู่อย่างไร และสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้อย่างไร ซึ่งกว่าจะรู้คำตอบก็อาจจะต้องใช้เวลาในการขุดค้นยาวนานอีกกว่าหลายทศวรรษจึงจะแล้วเสร็จ

ขอขอบคุณข้อมูล : © Newspaper WordPress Theme by TagDiv