พม่าขุดอุโมงค์อย่างไร? รบกับอยุธยาในอุโมงค์ “ฆ่าฟันล้มตายกันมาก” สมัยพระเจ้าตากสิน
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
หมายเหตุ-เรื่องนี้ไม่อาจสรุปให้ชัดเจนได้เพราะทำไปทำมาข้อมูลยังไม่แน่นพอ ขอให้อ่านพอเป็นฐานแล้วช่วยกันหาคำตอบที่ชัดเจนกว่านี้
ผมเคยเขียนเรื่อง รบพม่าในอุโมงค์ ด้วยเหตุหยิบพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สำนักพิมพ์คลังวิทยา 2516 มาอ่าน พลิกไปที่หน้า 402 เห็นเรื่องแปลก เป็นเหตุการณ์สมัยพระเจ้าตากสินเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว (ครองราชย์ พ.ศ.2313-2325) ทรงยกกองทัพขึ้นไปรบกับพม่าที่พิษณุโลก
พงศาวดารว่าวันหนึ่ง ร.1 (นามเดิมว่าด้วง) ขณะเป็นเจ้าพระยาจักรี ยกพลทหารออกไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่านอกเมืองพิษณุโลก ฟากตะวันออก
พม่าออกมารบ สามารถชิงค่ายของ ร.1 ได้
นายบุญมา น้อง ร.1 ขับพลทหารหนุนเข้าไปช่วยพี่ ฆ่าพม่าล้มตายและได้รับความลำบากไปเป็นอันมาก พม่าแตกถอยเข้าค่ายซึ่งอยู่ชิดค่ายไทยน่าจะไม่กี่สิบวา
พม่าไม่หยุดยั้ง “พม่าขุดอุโมงค์เดินใต้ดินเข้ามารบทุกค่าย”
ฝ่ายทหารไทยก็กล้าแกร่งพอกัน ทหารไทยขุดอุโมงค์ออกไปจากค่ายทุกค่ายจนอุโมงค์ทะลุถึงกัน
“ได้รบกันกับทัพพม่าในอุโมงค์” ฆ่าฟันล้มตายกันเป็นอันมาก
ตรงนี้แหละที่ผมมีคำถามว่าขุดอุโมงค์อย่างไร ขุดเป็นหลอดแบบลอดทะเล ลอดแม่น้ำ หรืออย่างไร ใช้วิชาช่างอย่างไร จึงจะไม่ให้ดินพังลงมาทับตัวเองตาย
จากนั้นก็ทิ้งคำถามนั้นเป็นเวลานานหลายเดือน หาได้นึกออกไม่ ว่าคำเฉลยมีอยู่เล็กน้อยในหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำฯ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งเคยอ่านผ่านตา
ร.5 ทรงเคยอธิบายเรื่องขุดอุโมงค์ไว้สั้นๆ ในหน้า 94
ถ้าอยากดูแบบง่ายๆ ก็เอาฉบับสำนักพิมพ์ต้นฉบับจัดพิมพ์ พ.ศ.2546 มากาง
หนังสือกล่าวว่าตอนเสียกรุง พ.ศ.2310 พระเจ้าตาก(ยังไม่เป็นกษัตริย์) พากองกำลัง 500 คนหนีออกจากอยุธยา
กรมหลวงนรินทรฯ จดว่าในวันนั้น “พม่าขุดอุโมงค์เข้าเผาเมือง ได้ด้านวังหน้าก่อน”
ร.5 ทรงขยายความว่า ขุดอุโมงค์ในที่นี้หมายถึงขุดรางลงไปตามริมกำแพง….
“เอาเชื้อเพลิงเผาให้กำแพงทรุด ดูเถอะพม่ามันมีกำลังอะไรจะยกหักเข้าในกำแพงก็ไม่ได้ ดูเถอะชาวเมืองช่างนั่งให้พม่ามันมาสุมไฟริมกำแพงได้ มันเหลวเข้าหากันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้”
ฟังดูเหมือนขุดลอดกำแพงตรงๆ แล้วเอาไฟสุม มีฐานกำแพงเป็นตัวกันถล่มหรืออย่างไร?
ร.5 ทรงปลงสังเวชที่ชาวอยุธยาปล่อยให้พม่าขุดอุโมงค์บุกเข้ามาได้ จนที่สุดเราก็ต้องเสียกรุง
นับว่าการขุดอุโมงค์ตามกำแพงเป็นกลศึกอย่างหนึ่งที่ใช้กันมานานพอสมควร ควรที่นักประวัติศาสตร์จะหารายละเอียดมายันกันอีก
ข้อมูลจาก : ศิลปวัฒนธรรม
edit: thongkrm_virut@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น