วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

10 ข้อปฏิบัติเพื่อการเติบโตของ จิตวิญญาณ


10 ข้อปฏิบัติเพื่อการเติบโตของ จิตวิญญาณ ::
.
1. ทดลอง สละสิ่งของที่รัก ห่วงอะไรมาก ของสะสมอะไรที่รักที่สุด ลองยกให้คนอื่น ให้ชิ้นที่รักที่สุด ห่วงที่สุด สละมันออกไปให้บุคคลที่เหมาะสม แล้วเราจะเห็นการสั่นสะเทือนของใจ เมื่อตัดวัตถุที่รักห่วงแหนที่สุดได้แล้ว ความเป็นนักสะสมของเราจะลดลงมาก วัตถุอื่นๆ ย่อมลด ละ เลิก ได้ง่ายขึ้น
.
2. ทดลอง พูดเท่าที่จำเป็น พูดแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์ ส่วนเรื่องไม่จริง และความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ให้งดเว้น เมื่อพูดน้อยลง เราจะเห็นใจตนเองชัดเจนขึ้น เห็นจังหวะ เห็นอัตตาพุ่งพล่าน เราจะเห็นเลยว่า การใช้คำพูดเท่าที่จำเป็น คือคุณธรรมขั้นสูงที่หาผู้ปฏิบัติได้ยากนัก
.
3. ทดลอง ทำดีกับผู้ที่เราไม่ชอบ เมื่อทำเช่นนี้ เราจะปรากฏการณ์สามสิ่งหนึ่ง เราเห็นความเร้าร้อนในใจของตนเอง เมื่อฝ่ายตรงข้ามมีปฏิกริยาตอบสนองในทางที่ไม่ดีกลับมา ใจเราจะดิ้นพล่านเหมือนถูกน้ำร้อนราด สอง เราจะเห็นว่า บางครั้ง ที่เราไม่ชอบเขานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรุงแต่งของเราเอง ไม่ใช่ความเลว หรือความชั่วของเขาทั้งหมด สาม เมื่อเราดีกับเขาแล้ว ไม่ว่าเขาจะเข้าใจ ไม่เข้าใจ ยอมรับ หรือปฏิเสธ เราจะเห็นความสุขที่ผุดขึ้นกลายใจของเราเอง

"เมื่อเราทำดีกับผู้ที่เราเกลียดได้ เราย่อมทำดีกับคนทั้งโลกได้ไม่ยาก"
.
4. ทดลอง ทำงานที่ตนเกลียด และรังเกียจด้วยความสุข ทำงานที่ต่ำที่สุดด้วยความสุข ทำงานที่เลอะเทอะ สกปรกที่สุดด้วยความสุข เมื่อเราทำงานที่ไม่ชอบได้อย่างมีความสุข ก็ไม่มีงานชิ้นใด ที่เราจะทำไม่ได้อีกต่อไป ใจของเราจะทำงานเพื่องานมากขึ้น แล้วงานที่เราทำ จะกลายเป็นงานที่เปิดโอกาสให้เราได้อยู่กับปัจจุบันมากขึ้นด้วย
.
5. ทดลองกินน้อย ไม่ตามใจปาก คนทั้งโลกมักให้รางวัลตนเองด้วยการกิน แต่บางครั้งอาจได้ประโยชน์กว่า ถ้าเราลองปล่อยให้ตัวเองรู้สึกหิวในบางเวลา เมื่อหิว จงสังเกตความหิว สังเกตการเกิดและดับของมัน สังเกตการทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างความรู้สึกหิวและร่างกาย เมื่อเราสังเกตให้ดี ใจเราจะเห็นถึงความทุกข์อันเกิดจากความไม่เที่ยงแท้ของกาย จะกลายเป็นผู้ไม่ยึดติดในรสอร่อย แต่กินเพื่อประโยชน์ เพื่อแก่นสารของชีวิตอย่างแท้จริง
.
6. ทดลอง ประกาศความเลวของตนเอง และประกาศความดีของผู้อื่น

ทำได้เช่นนี้ เราจะกลายเป็นคนที่อ่อมน้อมถ่อมตนมากขึ้น เป็นมนุษย์มากขึ้น จริงใจมากขึ้น และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องใส่หัวโขนที่ไม่ใช่ตนเองอีกต่อไป
.
7. ทดลอง ปฏิเสธผลประโยชน์ ชื่อเสียง เงินทอง และสิ่งที่กิเลสโหยหา ทดลองเล่นกับความต้องการของตนเอง เล่นกับความปราถนาส่วนลึกของตนเอง ฝึกทำสิ่งเหล่านี้เป็นระยะๆ แล้วเราจะกลายเป็นผู้อยู่เหนือ ลาภยศ ชื่อเสียง เงินทอง เป็นผู้เห็นความจริงของชีวิต เป็นผู้อยู่เหนือสิ่งแวดล้อม เพราะมีใจเป็นอิสระ
.
8. ทดลอง #ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่ฝืนธรรมชาติ ตื่นนอน หลับตา ตามเข็มนาฬิกาของพระอาทิตย์และพระจันทร์ เราไม่อาจเข้าใจธรรมชาติจนถึงที่สุดได้ ถ้าไม่ไหลตามกระแสของธรรมชาติ อย่าตั้งกติกาใหม่ที่ขัดกับหลักธรรมชาติ จงฟังเสียงความเงียบให้เป็น ฟังเสียงลมให้เป็น เห็นความงามของความน่าเบื่อให้เป็น เห็นความงามของความน่าเกลียดให้เป็น เพราะทั้งขาวและดำคือธรรมชาติของชีวิต ให้สิ่งเหล่านี้บอกเล่า และสอนเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของความจริง อย่าได้ใช้ชีวิตด้วยการทำสงครามกับธรรมชาติ อย่าได้เลือก หรือปฏิเสธทั้งความมืดและความสว่าง จงน้อมรับทั้งสองสิ่งด้วยความเบิกบาน จงตื่น นอน กิน ให้พอเหมาะ พอดี ลองถามธรรมชาติดูบ้าง ว่าอะไรกันแน่คือความพอดีที่แท้จริง

9. ทดลองหาความแปลกใหม่จากการเดิน การนั่ง และการนอน ความจริงแล้ว การเดิน นั่ง และการนอนเป็นเรื่องของความสดใหม่ ไม่ใช่เรื่องซ้ำซาก ถ้าเรานั่ง เดิน และนอนให้เป็น

สิ่งเหล่านี้จะสร้างสติปัญญาให้เราได้มากมาย อย่ามองหาความท้าทายจากกิจกรรมที่ต้องรอคอย จงมองหาความท้าทายจากกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานของชีวิต

ปราชญ์ทั้งหลายมีดวงตาเห็นธรรมก็เพราะกิจกรรมที่เป็นแก่น แกน ราก ไม่ใช่กิจกรรมที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นจากกิเลสตันหา ผู้ใดมีสติปัญญาสามารถทำเรื่องธรรมดาที่สุด ให้กลายเป็นเรื่องพิเศษที่สุดได้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่มีความสุขง่ายดายที่สุดในโลก
.
10. ฝึกแยกกาย ความคิด และจิต อย่าให้จิตแนบอยู่กับความคิด ถอนตัวเราออกมาจากความคิด ทำทุกอย่างภายใต้ความนิ่งสงบ เมื่อมีสิ่งใดต้องทำ จงทำให้เร็ว ทำให้เร็วกว่าความท้อใจจะมาถึง ทำให้เร็วกว่าความเกียจคร้านจะมาเยือน ทำให้เร็วกว่ากิเลสตันหาจะมาครอบงำ เมื่อทำแล้ว ให้กลับสู่ความนิ่ง เงียบ และสงบ

จงเป็นยอดดาบที่คมกริบ ชักจากฝักเมื่อคราวจำเป็น ตวัดดาบให้เร็ว แล้วนำกลับเข้าฝักทันที อย่าทำตนเป็นมีดพร้าราคาถูกที่มีเพียงเสียงขู่ แต่ไม่อาจสำแดงอานุภาพ การงานใดๆของชีวิต เมื่อต้องทำ จงทำให้เร็ว

เมื่อทำหน้าที่จนสมควรแก่เหตุแล้ว ต้องรู้จักจบและพอ ทำได้เช่นนี้ การงานจะมีประสิทธิ์ภาพสูงสุด ไม่ถูกความโลภครอบงำ ช่วงเวลาแห่งการทำงาน จะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการบ่มเพาะสติปัญญา ยิ่งทำงานมาก สติปัญญายิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี
.
ทดลองฝึกสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น เพิ่มน้ำหนักให้หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
จนสามารถรับได้ และคุ้นเคย เมื่อมีความคุ้นเคยแล้วระดับหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้จะพัฒนากลายเป็นอุปนิสัย กลายเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต

จริงอยู่ เมื่อแรกเกิด ลืมตาดูโลกเราทั้งหลายล้วนเป็นปุถุชน
คิดแบบปุถุชน พูดแบบปุถุชน และทำแบบปุถุชน แต่ในเมื่อมนุษย์นั้นเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ เรามิได้โง่งมดังหมู หมา กา ไก่ เมื่อเป็นอย่างนี้
เราจะรักและหวงแหนความเป็นปุถุชนของเราไว้ทำไม
ทิ้งความเป็นปุถุชนของเราไว้ในโลก แล้วตายไปพร้อมกับความเป็นอริยชน จะดีกว่าไหม!
.
ขอบคุณบทความจาก : พศิน อินทรวงค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น