วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

จากคดีฆาตกรรมสวาทสู่ประท้วงฮ่องกงมีคนร่วมเป็นล้านคน




จากคดีฆาตกรรมสวาทสู่ประท้วงฮ่องกงที่มีคนร่วมเป็นล้านคน




เมื่อวานนี้ภาพคนฮ่องกงจำนวนมหาศาลนัดหยุดงานออกมาเดินบนท้องถนนกระจายไปทั่วสื่อออนไลน์ท่ัวโลก แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้มาจากคดีฆาตกรรมของคู่รักวัยรุ่นคู่เดียวเท่านั้น
[1] ช่วงวาเลนไทน์ปี 2018 ฉั่นถ่งก้าย หนุ่มฮ่องกงวัย 19 ปี ไปเที่ยวไต้หวันกับแฟนสาวอายุไล่เลี่ยกัน เป็นทริปที่หวานชื่นจนกระทั่งวันกลับ แฟนสาวสารภาพว่าเธอท้องกับแฟนเก่า เขาโมโหมาก “ควบคุมอารมณ์ไม่ได้” โขกหัวเธอกับกำแพง รัดคอเธอจากด้านหลังเป็นเวลา 10 นาที จนสาวเจ้าสิ้นใจ เขายัดศพเธอลงในกระเป๋าเดินทางสีชมพู ขึ้นรถไฟใต้ดินออกไปนอกเมืองไทเปและโยนกระเป๋าและฝังศพของเธอทิ้งในสวนสาธารณะ หลังจากนั้นเขาบินกลับมาฮ่องกง ใช้ ATM ของเธอถอนเงินออกมาจ่ายหนี้บัตรเครดิตตัวเอง
[2] แม่แฟนสาวพอเห็นลูกไม่กลับมาก็แจ้งคนหาย พ่อถึงกับบินไปหาที่ไต้หวัน ต่อมาเจอที่อยู่โรงแรมในห้องลูกสาวนำไปสู่การสืบสาวหาตัวคนร้าย สุดท้ายฉั่นถงก้ายให้การสารภาพและถูกจับ วันเดียวกันกับที่มีผู้พบศพหญิงสาว
[3] ปัญหามีอยู่ว่าทางการฮ่องกงไม่สามารถส่งตัวฆาตกรกลับไปรับโทษได้ เนื่องจากไม่ได้มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน ศาลฮ่องกงก็เลยตัดสินลงโทษเขาด้วยคดีฟอกเงินและลักทรัพย์แฟนสาวแทน โดยลงโทษจำคุก 29 เดือน ซึ่งหลายคนเห็นว่าไม่สาสมกับสิ่งที่เขาได้ทำลงไปจริง ๆ คือการฆ่าคนทั้งคน
[4] เรื่องนี้ทำให้คนพูดเรื่องช่องว่างของกฎหมายกันในวงกว้าง รัฐบาลฮ่องกงเลยถือโอกาสนี้เสนอออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างว่าถ้ากฎหมายนี้ไม่ผ่านฮ่องกงอาจจะกลายเป็น “สวรรคของคนหนีคดี” ได้
[5] หอการค้าอเมริกันในฮ่องกงออกความคิดเห็นว่าข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมาฮ่องกงก็ไม่เคยส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับใครแต่ก็ยังมีปริมาณอาญากรรมต่ำมากๆ หลายคนกล่าวหาว่ารัฐบาลฮ่องกงเสนอกฎหมายนี้เพราะต้องการจะฉวยโอกาสให้จีนแทรกแทรงระบบกฎหมายฮ่องกงมากกว่า
[6] ตอนแรกเป็นเรื่องของไต้หวันกับฮ่องกง แต่อาจจะสงสัยกันว่าเกี่ยวอะไรกับจีน? คำตอบคือ ฮ่องกงมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เวลาพูดเรื่องส่งตัวนักโทษไปไต้หวันก็มีความหมายครอบคลุมการส่งตัวนักโทษไปจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยโดยอัตโนมัติ
[7] ร่างกฎหมายนี้ออกมาอยู่ดีในเดือนกุมภาพันธ์ รายละเอียดของกฎหมายตัวนี้จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฮ่องกงจับตัวคนที่ทางการจีนหมายหัวได้ทันทีที่ย่างเข้าฮ่องกงแม้แค่จะมาต่อเครื่องก็ตาม กฎหมายนี้ครอบคลุมทั้งคนจีนและคนชาติอื่น ให้ส่งไปให้จีนดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของจีนได้
[8] กลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้านกฎหมายนี้คือนักกิจกรรม นักกฎหมายและภาคธุรกิจ โดยเป็นห่วงว่าถ้าระบบยุติกรรมจีนนั้นไม่เป็นธรรมโปร่งใส เชื่อถือไม่ได้ ถ้าส่งชาวฮ่องกงไปจะการันตีสวัสดิภาพได้อย่างไร นอกจากนี้จะเป็นการไม่เคารพระบบนิติธรรมที่ชาวฮ่องกงภาคภูมิใจด้วย
[9] ส่วนทางการจีนก็แน่นอนว่าต้องออกมาสนับสนุน จางเสี่ยวหมิง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่ทำหน้าที่ดูแลฮ่องกงพูดเหมือนรัฐบาลฮ่องกงเปีะว่า อยากให้ฮ่องกงเป็นที่กบดานของคนหนีคดีหรอ
[10] จริงๆ ก่อนมีกฎหมายนี้คนที่อยู่ในฮ่องกงก็ไม่ได้ปลอดภัยจากระบบยุติธรรมจีน ปี 2015 มีคน 5 คนที่ทำร้านขายหนังสือต้องห้ามของจีนถูก “อุ้ม” ไป ทั้ง ๆ ที่อยู่ในเขตปกครองพิเศษของฮ่องกงแท้ๆ หลังหายไป 8 เดือน เขาได้กลับมาเปิดแถลงข่าวบอกว่าเจ้าหน้าที่ที่จีนส่งมาเป็นคนลักพาตัวไปกักตัวไว้ ระหว่างนั้นเขาโดนสืบสวนซ้ำ ๆ โดนจัยตาตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ฆ่าตัวตาย สุดท้ายโดนจับเซ็นเอกสารยอมรับผิด หลังแถลงข่าวเขาก็รีบหนีไปไต้หวันเพราะไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลฮ่องกงจะคุ้มครองสิทธิของเขาได้อีกต่อไป
[10] รัฐบาลฮ่องกงถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระจากจีนมากตลอด ตามหลักการแล้วถึงจะเป็นประเทศเดียวกันแต่จีนจะล้วงลูกรัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ เพราะตอนรับส่งมอบฮ่องกงมาจากอังกฤษเมื่อปี 2540 รัฐบาลจีนก็รับปากรัฐบาลอังกฤษดิบดีว่าจะไม่ทำลายระบบทุนนิยมของฮ่องกง จีนเลยจะปกครองฮ่องกงด้วยระบบพิเศษ เป็น “หนึ่งประเทศสองระบบ” ให้ฮ่องกงปกครองตัวเองจนถึงปี 2590 ชาวฮ่องกงจะเลือกผู้บริการของตัวเอง เลือกสภานิติบัญญัติของตัวเอง มีระบบศาล เสรีภาพสื่อ ประชาชนทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย นี่คือเรื่องของหลักการ
[11]  แต่ความเป็นจริงคือผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงไม่ได้มาจากประชาชนส่วนใหญ่ ระบบเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนฮ่องกงมี 7 กว่าล้านคนจะต้องลงทะเบียนให้รัฐคัดเลือกออกมา 2 แสนคน แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพเพื่อเลือกตัวแทนของกลุ่มอาชีพ 1,200 คน คน 1,200 คนนี้จะเป็นคนยกมือเลือกผู้นำสูงสุดมาเอง
[12] ระบบเลือกตั้งแบบนี้เป็นประเด็นในปี 2014 ที่โจชัวหว่อง นำคนฮ่องกงจำนวนมากออกมากินนอนกลางถนน 79 วันโดยมีร่มสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ตอนนั้นกลุ่มผู้ประท้วงบอกว่า 1,200 คนที่มาเลือกผู้นำสูงสุดส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ทางการจีนล็อกตัวมาแล้วทั้งนั้น แถมช่วงนั้นรัฐบาลจีนจะขอคัดตัวแคนดิเดทที่จะเข้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเองด้วย สรุปแล้วคนฮ่องกงเลือกอะไรได้บ้าง? แต่การประท้วงครั้งนั้นก็อ่อนแรงไป
[13] สภาพแวดล้อมการเมืองของฮ่องกงแบ่งออกเป็นสองฝ่าย มีชาวฮ่องกงที่ชอบรัฐบาลจีน และเห็นว่าการเข้ามาของรัฐบาลจีนจะทำให้เศรษฐกิจขยับขยาย ที่ผ่านมารัฐบาลจีนทุ่มเงินสร้างสะพานเชื่อมฮ่องกงกับแผ่นดินใหญ่แถมอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจของฮ่องกง ไม่นานมานี้มีการปล่อยวีดีโอเพลงชาติจีนตัวใหม่ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอินเตอร์เน็ตมาก เพราะเต็มไปด้วยใบหน้าของมหาเศรษฐีที่ “อยู่ฝ่ายรัฐบาลปักกิ่ง” หนึ่งในนั้นมีเฉินหลงร่วมด้วย ส่วนฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลจีนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เห็นว่าคนฮ่องกงควรจะเลือกอนาคตให้ตัวเอง มีการตั้งพรรคฝ่ายค้านนำโดยโจชัวหว่องและพวก ได้รับเลือกเข้าสภาสำเร็จ แต่ไม่นานก็ถูกดำเนินคดีและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
[13] กลับมาที่กฎหมายเจ้าปัญหา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการประท้วงครั้งแรกเกิดขึ้นรัฐบาลบอกว่าจะแก้ร่างกฎหมายให้ครอบคลุมเฉพาะโทษจำคุก 7 ปี แต่คนฮ่องกงเห็นว่ายังไม่เพียงพอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เลยเกิดการประท้วงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คนทั้งฮ่องกงมี 7 กว่าล้านคน ตัวเลขคนออกมประท้วงยังเป็นที่ถกเถียงกัน ฝ่ายประท้วงบอกว่ามีเป็นล้าน ส่วนตำรวจบอกว่ามีเจ็ดแสนกว่าคน
[14]  ไต้หวันเจ้าของเรื่องตัวจริงออกมาบอกแล้วว่าไม่โอเคกับสิ่งที่ฮ่องกงทำ ไช่อิงเหวินบอกว่าถ้าต้องยอมรับว่ารวมกับจีน ไต้หวันก็ขอไม่เจรจาส่งตัวนักโทษดีกว่า หรือถ้ากฎหมายนี้ออกมาก็สาบานว่าจะไม่เอาตัวฉั่นถ่งก้ายมาลงโทษ เพราะเป้าประสงค์การออกกฎหมายนี้เลยเรื่องของคดีนี้ไปเป็นข้ออ้างทางการเมืองไปแล้ว
[15] รัฐบาลจีนออกมาบอกว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ และเซนเซอร์คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียจีนที่พูดถึงเหตุการณ์ในฮ่องกง
[16] เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2562) ตามกำหนดจะมีการผ่านร่างกฎหมายต้นเรื่องเป็นวาระที่ 2 แต่สภาผู้แทนราษฎรของฮ่องกงเลื่อนออกไป บริษัทห้างร้านหยุดงานให้พนักงานออกมาประท้วง แต่คราวนี้มีการปะทะกันด้วยแก๊สน้ำตา สมาคมสื่อแถลงข่าวว่ามีนักข่าวถูกยิง มีรายงานผู้บาดเจ็บสาหัส 2 คน
[17]  หลังเกิดเหตุความรุนแรงเมื่อวานนี้ แคร์รี่ หลัม ผู้นำสูงสุดฮ่องกงคนปัจจุบันออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่าเสียใจที่คนรุ่นใหม่ฮ่องกงออกมาทำแบบนี้ ประเทศที่เจริญแล้วไม่ควรมีการใช้ความรุนแรงกัน ระหว่างสัมภาษณ์เธอหลั่งน้ำตา บอกว่าไม่เคยคิดจะ “ขาย” ฮ่องกง พร้อมกล่าวว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นมีคนยุยงปลุกปั่น แต่ก็ยังยืนยันให้สภาเดินหน้าโหวตกฎหมายนี้เพราะเชื่อว่าส.ส.ต่างก็มีเอกสิทธิ์ของตนเอง

[18] ส่วนเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์อังกฤษก็ได้ออกมาเตือนให้รัฐบาลจีนและฮ่องกงรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับอังกฤษเมื่อ 20 ปีก่อนว่าจะรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกง
[19] 15 มิถุนายน 2562 แคร์รี หลำออกมาประกาศว่าจะพักการพิจารณากฎหมายนี้ไว้ก่อน
[20] วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 คนฮ่องกงออกมาบนถนนมากกว่าเดิม ฝ่ายผู้ประท้วงประกาศว่าคนเข้าร่วมแตะ 2 ล้านคนแล้ว เรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายนี้ถาวร เพราะเชื่อว่าหากพักไว้ชั่วคราว ไม่นานก็ต้องหยิบออกมาผ่านใหม่เป็นแน่ บอนนี่ เหลียง ตัวแทนผู้ประท้วงบอก The Guardian ว่าตอนนี้ประชาชนเรียกร้องให้นางแคร์รี่ หลัมขอโทษประชาชน ถอนคำพูดว่าการประท้วงของประชาชนมีคนหนุนหลังและลาออก การประท้วงนี้จึงจะหยุดลง
รัฐบาลฮ่องกงจะถอยทีละนิดขณะที่ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงก็ขยายกว้างขึ้น น่าจับตาว่าจะมีความรุนแรงกว่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลฮ่องกงจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยราบรื่นที่สุด และจะนำไปสู่การลงจากอำนาจของนางหลัมหรือไม่?

ขอขอบคุณข้อมูล : 
The telegraph
BBC
Bloomberg
The Guardian
South China Morning Post

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น