วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

  หอสมุดบังเอิญพบ “หนังสืออาบยาพิษ” (3 เล่ม) อายุกว่า 400 ปี แต่พิษที่เคลือบนั้นไม่จางลงเลย

เมื่อปี 2018 นักวิจัยบังเอิญพบหนังสือโบราณ ที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16-17 จำนวน 3 เล่ม ณ หอสมุดของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นเดนมาร์ค ระหว่างที่กำลังศึกษาหนังสือประวัติศาสตร์จากยุคกลาง พบว่าปกของหนังสือทั้ง 3 เล่ม ถูกเคลือบด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกยกให้เป็นคอลเลคชั่นหนังสือที่อันตรายที่สุดในโลก


โดยจุดเริ่มต้นของการค้นพบหนังสือชุดนี้ เกิดจากนักวิจัยทราบว่าห้องสมุดแห่งนี้ เก็บรวบรวมหนังสือจากยุคกลางที่ใช้กระดาษรีไซเคิลมาทำปกหนังสือเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระดาษรีไซเคิลเหล่านั้นล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เช่น สำเนากฎหมายของโรมัน เป็นต้น 

จนกระทั่ง พวกเขาพบกับหนังสือที่ปกถูกเคลือบด้วยสารสีเขียวบางอย่างจนมองไม่เห็นข้อความบนปก ด้วยความสงสัย จึงนำไปตรวจสอบด้วยการเอ็กซ์เรย์แบบ Micro-XRF เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมี ซึ่งมันจะช่วยให้หมึกที่อยู่ใต้สารสีเขียวเด่นชัดขึ้นจนสามารถอ่านได้


แต่ทว่านักวิจัยกลับพบสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า ก็คือสารสีเขียวที่เคลือบอยู่นั้นคือ สารหนู (Arsenic) หนึ่งในสารพิษที่อันตรายที่สุดในโลก ที่หากสัมผัสหรือสูดดม อาจทำให้เกิดมะเร็งหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่สารพิษชนิดนี้ก็ไม่ได้เสื่อมฤทธิ์ไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อวางยาหรือรอบสังหาร แต่ใช้เพื่อป้องกันแมลงมากินกระดาษ ทำให้สารที่ถูกเคลือบนั้นไม่เข้มข้นมากพอจะทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็นับว่ายังเป็นหนังสือที่อันตรายอยู่ดี ซึ่งปัจจุบัน ห้องสมุดได้เก็บหนังสือทั้งหมดไว้ในกล่องที่ปิดมิดชิดพร้อมป้ายเตือน และสำหรับเนื้อหาของปกหนังสือหลังจากผ่านการสแกนแล้ว พบว่ามันถูกเขียนด้วยภาษาละตินและยังไม่ได้รับการถอดความ แต่คาดว่าในอนาคต ทางห้องสมุดจะทำการเปิดเผยเนื้อหาในรูปแบบดิจิตอลครับ


เพิ่มเติม – ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 19 บริษัท Paris Green ผู้ผลิตสีรายใหญ่ในฝรั่งเศส ใช้สารหนูมาทำสีเขียวขาย เนื่องจากมันมีสีสันสดใสทนทาน ไม่จืดจางตามกาลเวลา โดยถูกนำใช้ในงานศิลปะ และสิ่งทอจำนวนมาก นั่นจึงเป็น 1 ในสาเหตุที่ว่าทำไมผลงานศิลปะหลาย ๆ ชิ้นที่แม้จะเก่าแก่แต่สีก็ยังคงสดแจ่ม นั้นหมายความว่า ผลงานศิลปะหลาย ๆ ชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้นล้วนแต่มีพิษทั้งสิ้น

Fact – ในปี ค.ศ.1980 มีนวนิยายเรื่อง The Name of the Rose ของ อุมแบร์โต เอโก นักเขียนชื่อดังชาวอิตาลี ที่เนื้อหาว่าเรื่องด้วยของการวางแผนฆาตกรรมในโบสถ์ ด้วยการเคลือบสารหนูบนปกหนังสือ ซึ่งใครก็ตามที่มาสัมผัสหรือเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ สารพิษจะติดไปกับนิ้วมือ และเมื่อใดก็ตามที่เผลอใช้มือหยิบจับอาหาร เช็ดจมูก สารพิษจะเข้าสู่ร่างกายและคน ๆ นั้นจะตายทันที

เครดิต : © Newspaper WordPress Theme by TagDiv


ค้นพบถ้ำ-ที่เป็นแหล่งกบดานสุดท้ายของ “มนุษย์นีเอนเดอร์ทัล” 
(ถูกปิดตายมานานกว่า 40,000 ปี)


นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา นักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยิบรอลตาร์ได้ทำการสำรวจ “ถ้ำแวนการ์ด” (Vanguard Cave) ซึ่งเป็นถ้ำ 1 ใน 4 ของกลุ่มถ้ำที่ประกอบกันเป็นโขดหินยิบรอลตาร์ (Rock of Gibraltar) เพื่อกำหนดขนาดที่แท้จริงของถ้ำและสำรวจห้องหับที่ยังคงอาจลงเหลืออยู่ภายในถ้ำ ทว่าล่าสุด พวกเขาก็ได้เจอห้องที่ถูกปิดตายมานานกว่า 40,000 ปี ซึ่งภายในมีหลักฐานของมนุษย์ “นีแอนเดอร์ทัล” อยู่ด้วย

ถ้ำแวนการ์ด

“มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” (Neanderthals) เป็นญาติสนิทของมนุษย์ยุคปัจจุบัน แต่สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว โดยในครั้งนี้นักโบราณคดีได้ค้นพบห้องที่ถูกปิดผนึกด้วยทรายและตะกอน และมีแนวโน้มว่ามนุษย์ยุคนีแอนเดอร์ทัลจะใช้ห้องดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยในช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ในทวีปยูเรเซีย หรือเมื่อ 200,000 ถึง 40,000 ปีก่อน

โดยห้องที่ค้นพบนั้น อยู่ตรงบริเวณหลังคาของถ้ำแวนการ์ด มีประตูเป็นโพรงที่ต้องคลานเข้าไปเท่านั้น ก่อนจะพบห้องขนาดยาว 13 เมตร สูง 1.8 เมตร ภายในเต็มไปด้วยหินงอก-หินย้อยจำนวนมาก ขึ้นอยู่บริเวณพื้นห้องและเพดานห้อง รวมทั้งซากของสัตว์หลายชนิด อาทิ แมวป่าลิงซ์, ไฮยีนา และแร้งกริฟฟอน นอกจากนี้ยังมีรอยขีดข่วนของกรงเล็บจากสัตว์ชนิดหนึ่งบนกำแพงห้อง อีกทั้งร่องรอยของการเกิดแผ่นดินไหวโบราณในห้องนี้ด้วย

ภาพจำลองของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

แต่สิ่งที่ดูจะทำให้นักโบราณคดีตื่นเต้นที่สุดคือ การค้นพบหอยทากทะเลในห้องดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วห้องนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 20 เมตร แถมเมื่อ 40,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลยังต่ำกว่าปัจจุบัน รวมถึงยังมีชิ้นส่วนกระดูกของแมวน้ำ วาฬ และโลมา ดังนั้น นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าการพบซากสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีความสามารถในการล่าสัตว์จากท้องทะเลได้

 ทั้งนี้ ในตลอดระยะเวลา 9 ปีของการสำรวจ นักโบราณคดีเคยพบเศษซากและร่องรอยการอยู่อาศัยที่น่าสนใจของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลหลายอย่าง เช่น ฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่น่าจะอายุประมาณ 4 ขวบ ซึ่งน่าจะถูกไฮซีนาจู่โจมและลากมากินข้างใน ตลอดจน อุปกรณ์ก่อไฟ เครื่องมือหิน เครื่องประดับ และชุดที่ทำจากซากสัตว์ รวมไปถึงร่องรอยการแกะสลักหินที่อาจเป็นงานศิลปะของมนุษย์ยุคแรก ๆ

(ภาพใหญ่) ภาพภายนอกของถ้ำที่รวมต่อกันเป็นโขดหินยิบรอลตาร์, (ภาพเล็กบน) รอยข่วนของสัตว์กินเนื้อที่ค้นพบในถ้ำ, (ภาพเล็กล่าง) รอยแกะสลักของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

ไคลฟ์ ฟินเลย์สัน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติยิบรอลตาร์กล่าวว่า “การค้นพบในครั้งนี้และตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ผู้คนมีต่อมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลว่าเป็นพวกสมองทึบ ดุร้าย และคล้ายกับลิง เพราะสิ่งที่เราค้นพบนั้นสะท้อนว่าพวกเขามีความสามารถมากพอที่จะทำเกือบทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์สมัยใหม่ทำได้ ซึ่งนั่นคือตัวบ่งชี้ว่าพวกเขามีความเป็นมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการค้นพบเศษซากของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ มากมาย แต่ยังไม่มีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในครั้งนี้ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า การสำรวจของพวกเขาเป็นมากกว่าการค้นหาโครงกระดูก แต่มันเป็นการค้นหาว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเป็นใคร อาศัยอยู่อย่างไร และสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้อย่างไร ซึ่งกว่าจะรู้คำตอบก็อาจจะต้องใช้เวลาในการขุดค้นยาวนานอีกกว่าหลายทศวรรษจึงจะแล้วเสร็จ

ขอขอบคุณข้อมูล : © Newspaper WordPress Theme by TagDiv


วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

 ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี “เจ้า” หรือ “สามัญชน”???


พระบรมรูปพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ประดิษฐานภายในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่หากสังเกตอย่างดีก็จะพบว่าในบรรดาประวัติพระราชวงศ์หรือพระราชประวัติพระมหากษัตริย์ เรายังขาดแคลนข้อมูลที่กล่าวถึงบางช่วงบางตอน เช่นในภาคปฐมวัยแห่งพระมหากษัตริย์บางพระองค์ เท่ากับว่าเรายังขาดความรู้เรื่อง “วัยเด็ก” ของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระองค์ก่อนรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปพระราชวงศ์จักรีเป็นพระราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ ทั้งพระราชพงศาวดารและตำราประวัติศาสตร์ มีให้ศึกษาประวัติโดยละเอียดจำนวนมาก โดยเฉพาะพระบรมเดชานุภาพ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

ทั้งนี้เป็นเพราะการจดพงศาวดารในยุคก่อนได้เว้นที่จะกล่าวถึงพระราชประวัติก่อนเสวยราชย์ จะด้วยธรรมเนียมหรือด้วยเหตุไม่บังควรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวเป็นแต่เพียงภาพรางๆ ไม่แจ่มชัดเท่าที่ควร

พระราชพงศาวดารจึงเป็นแต่เพียงเนื้อเรื่องที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ “เปิดเผย” ได้ แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านั้นจำเป็นต้องคัดกรองเพื่อการเปิดเผยจริงๆ เหตุเพราะว่าการจดพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเกิดขึ้นร่วมสมัยกับการเกิด “การพิมพ์” ขึ้นในประเทศประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือแต่ละบุคคลแต่ละสกุลย่อมมีเรื่องราวอันควร “ปิดบัง” ไว้ทั้งสิ้น

หากย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมีเรื่องราวที่ควรปกปิดมากกว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เว้นแม้แต่พระนามของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นเรื่องปกปิดเช่นกัน นิโกลาส์ แชรแวส กล่าวไว้ว่าการปกปิดพระนามของพระมหากษัตริย์ถือเป็นนโยบายทางการเมืองของราชอาณาจักรสยาม ที่จะออกพระนามพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นที่รู้แก่ประชาชนพลเมืองได้ ก็ต่อเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ดังนั้นนิโกลาส์ แชรแวส ผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ตีพิมพ์ที่กรุงปารีสในปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต้องใช้ “เทคนิค” พอสมควรกว่าจะได้พระนามที่แท้จริงของสมเด็จพระนารายณ์มาได้ แชรแวสใช้เทคนิคดังนี้

“มีอยู่สองคนที่ข้าพเจ้ารู้จักดี และได้รับความไว้วางใจ เพราะข้าพเจ้าได้เคยช่วยเหลือเขามาหลายครั้งหลายหน ได้บอกให้ข้าพเจ้าทราบเป็นความลับว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ทรงพระนามว่าเจ้านารายณ์” (นิโกลาส์ แชรแวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. ก้าวหน้า, ๒๕๐๖, น. ๒๒๓.)

เซอร์จอห์น บาวริง

การเปิดเผยพระนาม รวมไปถึงอธิบายความหมายของพระนามพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นจริงๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่เพียงแต่ทรงเปิดเผยพระนามเท่านั้น ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เปิดเผยประวัติความเป็นมาของราชตระกูลอีกด้วย โดยมีพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ไว้อย่างค่อนข้างชัดเจนตรงไปตรงมา ทรงยอมรับที่จะไม่ใช่ “ไทยแท้” หากแต่เป็น “มอญ” ผสม “จีน” ในชั้นบรรพบุรุษต้นตระกูล

ความในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ทรงอ้างถึงต้นตระกูลชาวมอญหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรหรือที่ทรงเรียกว่าพระนเรศร (King Phra Naresr) มายังกรุงศรีอยุธยา

“ในตอนนี้คนในตระกูลที่รับราชการเป็นทหารของพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ติดตามมากับสมเด็จพระนเรศรด้วย แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา” (เซอร์จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๗, น. ๘๗.)

ทรงบรรยายต่อว่า หลังจากนั้นเรื่องราวของตระกูลก็ขาดหายไปราวครึ่งศตวรรษหรือประมาณ ๘ รัชกาล จนกระทั่งมาปรากฏขึ้นอีกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Narayu

“หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศร…เรื่องราวของตระกูลนี้ได้ขาดหายไปจากการรับรู้ของพวกเราจนกระทั่งถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายู” (เบาว์ริง, น. ๘๗)

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นี่เองที่ “ต้นตระกูล” ได้รับโอกาสรับราชการสำคัญของแผ่นดินคือ เจ้าพระยาโกษาเหล็ก และเจ้าพระยาโกษาปาน [ในพระราชหัตถเลขาใช้ปาล (Pal) แต่ในพระราชพงศาวดารใช้ปาน]

“กล่าวกันว่าบุพการีของพวกเราสืบสายเลือดต่อลงมาจากท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรนี้เอง” (เบาว์ริง, น. ๘๘)

จากนั้นก็ทรงเล่าสืบสายตระกูลลงมาจนถึงสมเด็จพระบรมมหาชนก (คือพระราชบิดารัชกาลที่ ๑)

“ต้นตระกูลผู้เป็นบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก และเป็นปู่ของพระราชบิดาในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (ตัวข้าพเจ้า) กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน (พระเชษฐาผู้ทรงล่วงไปแล้วของข้าพเจ้า) แห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิต และตั้งบ้านเรือนที่ “สะกุตรัง” เป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็ก อันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ ตรงรอยต่อของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้” (เบาว์ริง, น. ๘๘)

รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เปิดเผยประวัติความเป็นมาของราชตระกูล (พระบรมรูปประดิษฐานในตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร)

สิ่งที่น่าสังเกตตรงนี้ก็คือ ทรงอ้างอิงต้นตระกูลที่เป็นแต่เพียง “เสนาบดีต่างประเทศ” ไม่ได้ทรงอ้างถึงบรรพบุรุษที่เป็นเชื้อพระวงศ์หรืออดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ นอกจากนี้ก็ไม่ได้ทรงเอ่ยถึงโกษาปาน ในฐานะ “เชื้อเจ้า” ไว้ในที่ใดเลย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเรื่องราวของตระกูลที่ขาดหายไปราวสองสามชั่วอายุคน จนกระทั่งมาถึงเรื่องของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี)

แต่ในเอกสารอื่นได้เชื่อมรอยต่อตระกูล “ทอง” ตรงนี้ไว้บ้างแล้ว คือบุตรคนใหญ่ของโกษาปานชื่อนายขุนทองหรือนายทอง ได้เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช บุตรนายทองคนใหญ่คือนายทองคำ รับราชการเป็นพระยาราชนกูล บุตรคนใหญ่ของนายทองคำคือนายทองดี คือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นที่หลวงพินิจอักษรหรือพระอักษรสุนทรศาสตร์ บิดานายทองด้วง คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ไม่ได้กล่าวเน้นถึงเรื่องการเป็น “เจ้า” ของพระราชวงศ์ แต่ทรงเน้นย้ำถึงการเป็นตระกูลเสนาบดีและคหบดีที่เป็นชาวจีน โดยทรงกล่าวถึง “นายทองดี” ต้นราชสกุลที่ได้ลูกเศรษฐีจีนเป็นภรรยา

“ท่านได้ออกจาก “สะเกตรัง” ไปยังอยุธยา ที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา” (เบาว์ริง, น. ๘๘)

แม้แต่ในพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ ก็มิได้กล่าวยอกย้อนขึ้นไปถึงบรรพบุรุษรุ่นโกษาปาน ไม่ว่าเรื่องใดๆ รวมถึงเรื่องความเป็นเจ้า แต่ทรงกล่าวย้อนเพียงพระปฐมบรมมหาชนกเท่านั้นว่าเป็น “ตระกูลใหญ่” คือเป็นการอธิบายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าได้ประสูติในชาติตระกูลที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวย

“ได้เสดจมายังมนุษยโลกย์นี้ อุบัติมีขึ้นในมหามาตย์คฤหบดีสกูลอันมั่งคั่งพร้อมมูลด้วยไอยสูริยสมบัติ ถ้าเปนมัทธยมประเทศก็ควรจะเปนสกูลมหาสาลได้ เพราะเปนสกูลใหญ่ที่มีนิเวศนสฐานตั้งอยู่นานในภายในกำแพงพระมหานครกรุงเทพทวารวดีศรีอยุทธยา” (วชิรญาณ เล่ม ๒ ฉบับ ๑๑ ปี ๑๒๕๗, น. ๔๗๑-๕๐๑ และเล่ม ๒ ฉบับ ๑๓ น. ๖๒๕-๖๓๕.)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก “นายทองด้วง”

ทั้งในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ซึ่งเป็นลักษณะเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ ที่มีวัตถุประสงค์จะเล่าถึงสาแหรกตระกูลสำหรับลูกหลานอ่านกันเป็นการภายใน ก็ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีพระราชประสงค์จะอ้างถึง “เชื้อเจ้า” ของบรรพบุรุษในที่ใดเลย แต่กลับเน้นย้ำถึงการเป็นตระกูลเสนาบดีที่มั่งคั่งร่ำรวย

แต่เอกสารชั้นหลังพบได้หลายต่อหลายชิ้น ที่พยายามสืบเสาะค้นหาและ “ผูก” พระราชวงศ์จักรีเข้ากับพระราชวงศ์สุโขทัยในสมัยอยุธยาหรือวงศ์พระมหาธรรมราชา โดยเฉพาะที่สมเด็จพระนเรศวร

บุคคลที่เป็นสายโซ่สำคัญเชื่อมต่อสองสาแหรกนี้เข้าด้วยกันคือ “เจ้าแม่วัดดุสิต”

ปัญหาสำคัญก็คือ “เจ้าแม่วัดดุสิต” ท่านนี้เป็นเชื้อพระวงศ์หรือไม่? และเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพงศาวดารไทย และเอกสารต่างประเทศ จึงไม่มีฉบับใดอ้างถึงความเป็น “เจ้า” ของท่านผู้นี้

ด้วยเหตุที่เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นสายสกุลที่สืบได้สูงสุดของพระราชวงศ์จักรี สามารถอ้างอิงได้และเชื่อได้ว่ามีตัวตนจริง โดยมีหลักฐานสำคัญที่แน่ชัดว่าท่านผู้นี้เป็นมารดาของโกษาปาน มีปรากฏอยู่ในเอกสารต่างประเทศและพระราชพงศาวดารไทยหลายฉบับ

ลาลูแบร์ได้พูดถึงเจ้าแม่วัดดุสิตว่าเป็นมารดาของราชทูตโกษาปานไว้ดังนี้

“มารดาของท่านเอกอัครราชทูต ที่เราได้เห็นตัวกันที่นี้ (ในประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระนมเหมือนกัน” (จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม ๑. ก้าวหน้า, ๒๕๑๐, น. ๓๙๘.)

เหตุที่ลาลูแบร์เรียกเจ้าแม่วัดดุสิตมารดาของโกษาปานว่าเป็น “พระนม” ก็เพราะท่านผู้นี้ได้เป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์ ส่วนที่ว่า “เป็นพระนมเหมือนกัน” ก็คือ สมเด็จพระนารายณ์นั้นทรงมีพระนมตามที่มีชื่อในพงศาวดารอยู่ ๒ ท่าน คือเจ้าแม่วัดดุสิตท่านหนึ่ง และมารดาของพระเพทราชาอีกท่านหนึ่ง ทั้งนี้ตามกฎมนเทียรบาลได้กำหนดตำแหน่ง “พระนม” ไว้ ๓ ตำแหน่ง คือ แม่นมเอก แม่นมโท แม่นมตรี กล่าวกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นได้เป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้กล่าวถึงความสนิทสนมกันระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับสองพี่น้องโกษาเหล็กและโกษาปานลูกเจ้าแม่วัดดุสิตในฐานะที่ได้ดื่มน้ำนมร่วมกัน ในคราวที่โกษาเหล็กต้องล้มป่วยถึงแก่ชีวิตดังนี้

“ลุศักราช ๑๐๒๓ ปีฉลูตรีศก ขณะนั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดีป่วยลง ทรงพระกรุณาให้พระ หลวง ขุน หมื่น แพทย์ทั้งหลายไปพยาบาล และโรคนั้นเป็นสมัยกาลแห่งชีวิตขัยก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก และเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้ เป็นลูกพระนมและได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ยังทรงพระเยาว์” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่ม ๒. คุรุสภา, ๒๕๐๕, น. ๗๕.)

พระราชพงศาวดารกรุงเก่ายังได้กล่าวถึงนาม “เจ้าแม่วัดดุสิต” ไว้เมื่อคราวหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือพระเจ้าเสือ) เกิดเรื่องวิวาทกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จนต้องไปขอให้มารดาโกษาเหล็กช่วยเกลี้ยกล่อมสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงเว้นพระราชอาญา

“ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน และเป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” (กรมพระปรมานุชิต, น. ๙๙)

ต่อมาภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้เอ่ยถึงเจ้าแม่วัดดุสิตในนาม “เจ้าแม่ผู้เฒ่า”

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ช่างเขียนน่าจะได้เค้ารูปหน้าจากภาพลายเส้นเจ้าพระยาโกษาปาน

กล่าวโดยรวมก็คือ ทั้งพระราชนิพนธ์ประถมวงศ์ จดหมายเหตุลาลูแบร์ และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ไม่ได้กล่าวถึงสายตระกูลของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์สายไหน นอกจากนี้ยังไม่ได้ยกย่องบุตรของท่านทั้งสองว่ามีเชื้อสายเจ้าแต่ประการใด

เช่นเมื่อคราวที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเฟ้นหาราชทูตไปกรุงฝรั่งเศสอยู่นั้น โกษาเหล็กก็แนะนำน้องชายถวาย ก็ตรัสเรียกเสมอด้วยไพร่ทั่วไป ไม่ได้ “ไว้เชื้อ” แม้แต่น้อย

“จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หานายปานเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่า อ้ายปาน มึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศสสืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส” (กรมพระปรมานุชิต, น. ๔๓)

จะเห็นได้ว่าเอกสารทั้งหลายที่ยกมานี้ยังไม่พบเบาะแสใดที่พอจะอนุมานได้ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตหรือเจ้าแม่ผู้เฒ่า เป็นเชื้อพระวงศ์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเป็นเจ้า” ตามความหมายของธรรมเนียมราชตระกูลนั้นนับเอาเฉพาะลูกเธอหรือหลานเธอ นั่นคือไม่ต่ำกว่าพระเจ้าหลานเธอและหม่อมเจ้า จึงยังไม่มีหลักฐานใดพอจะยืนยันได้ว่าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นลูกเธอหรือหลานเธอพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด

เหลือเพียงเบาะแสเดียวซ่อนอยู่ ที่อาจจะชี้ได้ว่าท่านผู้นี้เป็นเจ้านาย และเป็นเบาะแสเดียวเท่านั้นที่ยึดเป็นหลักฐานได้ คือที่มาของชื่อ “วัดดุสิต” ในชื่อเจ้าแม่วัดดุสิตนั่นเอง

วัดดุสิตาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เบาะแสนี้อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า เมื่อคราวที่พระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าเสือขอย้ายออกจากวังหลังจากที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต ทรงขอย้ายไปประทับที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งไม่ใช่บ้านธรรมดา แต่เป็นที่ประทับเสมอด้วยวังเจ้า

“ในขณะนั้น สมเด็จพระอรรคมเหสีเดิมแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น

ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาแต่ก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่าซึ่งเป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก โกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ขณะเป็นที่หลวงสรศักดิ์และชกเอาปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่านั้นก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นั้น

ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จไปตั้งพระตำหนักอยู่ในนั้นสืบต่อกันไป” (กรมพระปรมานุชิต, น. ๑๘๕)

เนินดินมองเห็นแนวอิฐ ซึ่งอาจเป็นฐานของพระตำหนักวัดดุสิต

หลักฐานชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าเจ้าแม่วัดดุสิตต้องเป็น “เจ้า” ค่อนข้างแน่ แต่อย่างไรก็ดียังมีปริศนาอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่สามารถจะหาคำตอบได้คือ สามีของเจ้าแม่วัดดุสิต หรือพ่อของโกษาปานเป็นใคร หากท่านผู้นี้เป็น “เจ้า” ด้วย ก็สมควรที่จะเรียกที่อยู่ว่าตำหนักเช่นกัน น่าเสียดายว่าท่านผู้นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้พอให้ระบุว่าท่านเป็นใคร ในทำนองกลับกันนั่นอาจแสดงว่าท่านไม่ได้มี “เชื้อ” พอที่จะให้อ้างอิงก็เป็นได้ เพราะการอ้างอิงการสืบเชื้อสาย “เจ้า” ทางสายบิดาย่อมหนักแน่นกว่าทางสายมารดา

ศาลเจ้าแม่วัดดุสิต ใกล้กับเนินดิน

แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าต้นสายของเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นใคร และไม่มีหลักฐานว่าท่านมีสกุลยศอย่างใด แต่เอกสารในชั้นหลังคือหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กลับมีการกล่าวอ้างถึงสกุลยศว่าท่านเป็น “หม่อมเจ้า” ในราชวงศ์สุโขทัยพระมหาธรรมราชา เช่นในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อ้างถึงหนังสือราชินิกุลบางช้าง พิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี รัชกาลที่ ๒ ดังนี้

“แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกศาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. ๒๕๑๔, น. ๑๘.)

ในเรื่องนี้ท่านยกเจ้าแม่วัดดุสิตให้เป็น “หม่อมเจ้า” ในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา แต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์เองและพระสวามี ที่สำคัญคืออ้างถึงการเป็นราชวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากราชวงศ์พระร่วง

เอกสารชั้นหลังเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะคำบอกเล่าโดยพิสดาร โอกาสที่จะถูกต้องและผิดพลาดมีได้เท่าๆ กัน

เรื่องเจ้าแม่วัดดุสิต ยังไปปรากฏในประวัติตระกูล “อิศรางกูร” ที่น่าสนใจก็คือเอกสารชิ้นนี้ระบุชื่อของเจ้าแม่ผู้เฒ่าไว้และยังระบุนามพระราชบิดาไว้อีกด้วย

“เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ” (อิศรางกูร. พิมพ์ในงานฌาปนกิจ ม.ล.ปุย อิศรางกูร, ๒๕๑๗.)

เรื่องชื่อเจ้าแม่วัดดุสิตนี้บังเอิญตรงกับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในหนังสือ ราชินิกูล รัชกาลที่ ๕ ดังนี้

“พระบุรพชนทางพระชนก พระบุรพชนเป็นพระบรมราชวงศ์จักรี มาแต่หม่อมเจ้าบัว คือที่สมญาว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” เป็นราชตระกูลครั้งกรุงทวารวดี”

นอกจากนี้ยังมีเอกสารของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ที่กล่าวว่าเป็น “บันทึกของบรรพบุรุษ” ตกทอดมายังท่าน มีเรื่องราวของเจ้าแม่วัดดุสิตดังโดยพิสดารอีกสายหนึ่งคือ แม้จะไม่ทราบชื่อท่าน แต่ก็ทราบนามของชาวมอญต้นสกุลจักรีที่ตามสมเด็จพระนเรศวรมายังกรุงศรีอยุธยา

“แม่ทัพมอญคนหนึ่งมีนามว่า พระยาเกียรติ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการกับไทย ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ (ไม่ได้บอกว่ามีชื่อว่าอะไร) ได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต (ไม่ได้บอกชื่อเดิมอีกเหมือนกัน) ซึ่งเป็นพระนาง มีตำแหน่งสูงในพระราชวัง” (ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส. คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ๒๕๓๐, น. ๑๓.)

ตามหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นหมดโอกาสที่จะเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าแผ่นดินแน่ เนื่องจากสกุลยศต่ำสุดของพระเจ้าลูกเธออันเกิดแต่นางสนมนั้นก็เป็นถึงพระเยาวราช ตำแหน่งนามไม่ใช่น้อยเช่นนี้ ไม่สมควรที่ผู้จดพระราชพงศาวดารจะละเลยกล่าวถึงสกุลยศของพระองค์ หรือไม่ควรละเว้นการกล่าวย้อนไปถึงพระราชบิดาของพระองค์

อีกกรณีหนึ่งคือทรงเป็นหม่อมเจ้า คือเป็นหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน หากเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เจ้าแม่วัดดุสิตก็มีโอกาสเป็นพระธิดาของพระนเรศวร หรือพระเอกาทศรถ ก่อนที่ทั้งสองพระองค์นี้จะทรงครองราชย์ หากเป็นในแผ่นดินรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายที่จะเป็นหม่อมเจ้าได้ ด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นวังหน้าอยู่ในขณะนั้น พระธิดาสมควรที่จะได้เป็นพระองค์เจ้า

หากเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มีโอกาสที่พระธิดาของเจ้าฟ้าสุทัศน์หรือพระศรีเสาวภาคย์ได้ เพียงแต่พระราชพงศาวดารจดเรื่องของสองพระองค์นี้ไว้น้อยนัก ยากจะสันนิษฐานประการใดได้

แต่ยังมีปัญหาตามมาอีกคือ หากทรงมีพระชาติกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ เหตุใดเอกสารชั้นกรุงศรีอยุธยาหรือเอกสารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป จึงไม่พยายามเอ่ยถึงที่มาที่ไปของพระองค์ พระนามจริง แม้แต่พระนามของพระสวามี และหากทรงมีพระชาติกำเนิดสูงถึงระดับลูกหลวง หลานหลวง จะเป็นไปได้หรือที่พระสวามีจะเป็นเพียงขุนนางมอญที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ โอกาสเช่นนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นในธรรมเนียมราชตระกูลในสยามประเทศ

ในทำนองเดียวกันหากพระสวามีเป็นเชื้อพระวงศ์ ก็จำเป็นจะต้องมีศักดิ์เสมอด้วยพระองค์จึงจะมีพระราชานุญาตให้อภิเษกสมรสได้ ซึ่งถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เหตุใดพระราชพงศาวดารจึงเว้นที่จะกล่าวถึง “ฝ่ายชาย” อย่างน่าสงสัย เพราะโอกาสที่ “ผู้หญิง” จะปรากฏในพระราชพงศาวดารไทยนั้นมีน้อยยิ่งนัก

หลักฐานเรื่องเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าพระองค์เป็นใครกันแน่

แต่มีข้อน่าสังเกตถึงเรื่องราวของเจ้าแม่วัดดุสิตที่ก่อให้เกิดความแตกต่างเป็น ๒ ส่วนอย่างชัดเจน ส่วนแรกคือหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป คือประเภทจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ หรือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับต่างๆ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้แม้แต่น้อย รวมไปถึง “ความเป็นเจ้า” ของพระองค์ด้วย รวมไปถึงพระราชนิพนธ์ พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๔ ที่ไม่มีการกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตเลย

อีกส่วนหนึ่งคือเอกสารหลังรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กลับกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิต ทั้งพระนาม เชื้อสาย และความเป็นวงศ์พระร่วงของพระองค์

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้หลักฐานหลังรัชกาลที่ ๔ มีการกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตอย่างละเอียดลออมากขึ้น และอาจเป็นต้นเหตุของเรื่อง “เชื้อเจ้า” ทั้งปวงนี้ ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ในพระราชวงศ์พระองค์ใด แต่กลับเป็นบุคคลที่นักประวัติศาสตร์ในพระราชวงศ์ไม่เคยยอมรับและประณามว่าเป็นจอมโกหก

บุคคลที่ว่านี้คือ ก.ศ.ร.กุหลาบ!

หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้แต่งนั้น กล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตไว้เป็นสำนวนเดียวกัน โดยอ้างที่มาของเรื่องทั้งหมดไว้ในบานแผนกหนังสือปฐมวงศ์ว่

“หนังสือปฐมวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพ เป็นเรื่องราวกล่าวด้วยมูลเหตุอภินิหารท่านผู้เป็นบรรพบุรุษ ต้นฉบับนั้นได้คัดแต่หนังสือหอหลวง นายกุหลาบทูลเกล้าฯ ถวาย นายกุหลาบว่าคัดแต่ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน” (“อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ. ๒๕๔๕, น. ๖๗.)

หนังสือปฐมวงศ์ ฉบับ ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวถึงต้นสายราชวงศ์จักรีไว้คล้ายกับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดยกล่าวถึงความเป็นมาของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ เหมือนกับเอกสารชั้นหลังที่คงจะอาศัยหนังสือ ๒ เล่มนี้เป็นต้นแบบอ้างอิง เรื่องเจ้าแม่วัดดุสิตในหนังสือปฐมวงศ์ มีดังนี้

“เริ่มความในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพชญ บรมราชาธิราชปราสาททอง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒๕ พระองค์ ในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ปรากฏเป็นข้อต้น

พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสกับพระราชเทพีพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชกุมารทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระราชบิดา จึ่งพระราชทานพระนมนางองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานให้เป็นพระนมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เป็นพระนมเอกนั้น ไว้ทรงอภิบาลทะนุบำรุงเจ้าฟ้านารายณ์มาแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ เป็นทั้งพระพี่เลี้ยงแลพระนม ด้วยพระราชชนนีของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารนั้น ทิวงคตแต่เมื่อประสูติได้เก้าวัน เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึ่งได้ทรงรักใคร่นับถือเหมือนพระราชมารดา

ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้านารายณ์ได้เสด็จขึ้นเถลิงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินในที่ ๒๘ พระองค์ ในกรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระบรมราชา รามาธิบดีศรีสรรเพชญ พระนารายณ์เป็นเจ้าๆ จึ่งทรงตั้งหม่อมเจ้าพระนมนางขึ้นเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงสร้างวังมีตำหนักตึก ที่ริมวัดดุสิดาราม นอกกำแพงพระนคร ถวายพระองค์เจ้าพระนมนางให้เสด็จประทับเป็นที่สำราญพระทัย ครั้งนั้นคนเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิต ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกว่าเจ้าแม่วัดดุสิตๆ มีบุตรมาแต่เดิมนั้น ๒ คนเป็นชาย คนใหญ่ชื่อคุณเหล็ก คนที่ ๒ ชื่อคุณปาล” (อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, น. ๖๗-๖๘)

ก.ศ.ร.กุหลาบ

หนังสือปฐมวงศ์กับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้คำตอบเรื่องความเป็น “เจ้า” ของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ คือนอกจากจะบอกให้รู้ว่าทรงเป็นหม่อมเจ้าอยู่แต่เดิมและได้ยกเป็นพระองค์เจ้าภายหลัง และเรื่องนี้น่าจะเป็น “ต้นทาง” ให้เอกสารรุ่นหลังใช้เป็นแนวทางในการเดินตาม คือต่อเติมลากสายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ต่างๆ จนสับสนไปหมด

สำหรับพระนามแท้จริงของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นถึงบัดนี้ยังคงต้องถือว่าเป็นปริศนาชิ้นโตของประวัติราชวงศ์จักรีที่ยังคลี่คลายไม่ได้ จะอาศัยอ้างอิงพระนามจากเอกสารรุ่นหลังก็เลื่อนลอยเต็มที

ส่วนคำตรัสเรียกว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” ของสมเด็จพระนารายณ์ ก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดอีกชั้นหนึ่ง คือเป็นพระนามโดยตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมนิยมที่คนรุ่นก่อนจะไม่เรียกชื่อกันตรงๆ เช่น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นต้น และคำตรัสเรียก “เจ้าแม่วัดดุสิต” ก็ถือเป็นการยืนยันจากสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างดีว่าท่านผู้นี้เป็น “เจ้า” จริงๆ

คือ คำเรียก “เจ้าแม่” นั้นไม่ได้หมายความอย่างเดียวกับ “เจ้าพ่อ” นักเลงโต แต่ย่อมหมายถึงเจ้าที่เป็นแม่นั่นเอง หากนำไปรวมกับเรื่องการเรียกที่อยู่ว่าพระตำหนัก ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ก็ย่อมแสดงถึงที่ประทับของเจ้านาย ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เหลือปริศนาเรื่องการเป็น “หม่อมเจ้า” ของเจ้าแม่วัดดุสิตว่าสมควรจะยุติได้หรือไม่นั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าคราวนี้จะยอมเชื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือไม่เท่านั้นเอง?!?

 ที่มา : หนังสือปฐมวงศ์กับหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ

เปิดนโยบาย “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” เมื่อ พ.ศ. 2499 ห้ามทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง!!!



                   (ซ้าย) ภาพปกหนังสือไฮด์ปาร์คกับการล้มรัฐบาล ของ บุญยัง สันธนะวิทย์ ตีพิมพ์ พ.ศ. 2502

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาไทย ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง .. 2498 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม .. 2499 เลขทะเบียนที่ 4/2499 มีนายเพทาย โชตินุชิตเป็นหัวหน้าพรรค นายชวน รัตนวราหะเป็นเลขาธิการพรรคในการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ .. 2500 เป็นการต่อสู้ของพรรคเสรีมนังคศิลาที่นำโดยจอมพล พิบูลสงคราม กับพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ แต่ยังมี “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” อีกพรรคหนึ่งที่มีบทบาทการเมืองสำคัญของไทยในสมัยนั้น

ก่อนหน้าที่จะมีการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง .. 2498 นั้น การเมืองไทยอยู่ในช่วงแข่งขันชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็น “การเมืองสามเส้า” มีจอมพล . ฝ่ายหนึ่ง กลุ่มสี่เสาว์เทเวศร์ นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝ่ายหนึ่ง และกลุ่มซอยราชครู นำโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ฝ่ายหนึ่ง

ในปี .. 2498 จอมพล ได้เดินทางรอบโลกภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยจอมพล จึงเริ่มรณรงค์ “ประชาธิปไตย” โดยให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ที่สนามบินดอนเมืองว่า “การทัศนาจรรอบโลกครั้งนี้ได้ผลคุ้มค่า เพราะได้ความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นของฝากแก่พี่น้องชาวไทย

สิ่งนั้นคือ “ไฮดปาร์ค

ไฮด์ปาร์คคือการชุมนุมอย่างหนึ่งเป็นการ “พูด” ที่สาธารณะในเรื่องต่าง  (คลิกอ่านต้นกำเนิดของไฮด์ปาร์คได้ที่นี่ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยในยุคนั้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างจริงจัง ขณะที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มตีพิมพ์ในวันที่ 27 สิงหาคม .. 2498 ว่า “ไฮด์ปาร์ค” จะเกิดขึ้นที่สนามหลวงเป็นครั้งแรกของประเทศ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจกขนมเด็กๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2499

ผู้ที่ริเริ่มจัดไฮด์ปาร์คคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ อดีต .ธนบุรี ได้เชิญนักพูดและนักการเมืองหลายคนมาร่วมไฮด์ปาร์ค เช่น นายเพทาย โชตินุชิต .ศรีสะเกษ ไฮด์ปาร์ดที่สนามหลวงได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมากขึ้นจนพัฒนากลายเป็น “สภาประชาชน หรือ “สภาท้องสนามหลวง จนคำว่าไฮด์ปาร์คนั้นติดหูคนไทยไปเสียแล้ว ทั้ง  ที่ก่อนหน้าไม่นานกลับไม่รู้จักคำนี้ว่าคืออะไร

รัฐบาลจอมพล ปเริ่มวิตกกังวลกับขบวนการไฮด์ปาร์ค แต่ทั้งนี้ก็เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเองที่เมื่อแรกมีการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจแม้แต่น้อย ประชาชนจึงคิดว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน จึงมีการเดินขบวนชุมนุมของขบวนการไฮด์ปาร์คในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 โจมตีรัฐบาลจอมพล ปในเรื่องต่าง  โดยเฉพาะเรื่อง ส.ประเภทที่ 2 ถึงขนาดที่นายเพทาย โชตินุชิต ได้กรีดเลือดประท้วงเรียกร้องให้มีการยกเลิก .ประเภทนี้ 

การไฮด์ปาร์คจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องข้ามปีไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มมีการหาวิธีต่อสู้ที่หนักหน่วงมากขึ้น นั่นคือการอดข้าวประท้วง นำโดย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ รัฐบาลจึงดำเนินการจับกุมผู้ประท้วง ก่อนจะปล่อยตัวผู้ประท้วงทั้งหมดในวันที่ 10 มีนาคม .. 2499

หลังจากเหตุการณ์ “กบฏอดข้าว” นี้ รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีจึงออกแถลงการณ์ห้ามการไฮด์ปาร์คด้วยเหตุผลว่า “พูดเกินขอบเขตเป็นอันมาก อีกทั้งกรมตำรวจก็ใช้ “เครื่องมือ” กล่าวอ้างว่ามีความพยายามแทรกแซงจากพวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นไฮด์ปาร์คจึงสลายตัวไปโดยปริยาย แต่ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การจดทะเบียนตั้ง “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.. 2500

ทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าของฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ค” ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว

ในประกาศกระทวงมหาดไทย เรื่องการจดทะเบียนพรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค ได้ระบุถึงอุดมการณ์ของพรรค 4 ข้อคือ 1. เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ 2. ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน 3. ประชาชนเป็นใหญ่ 4. รวมกันอยู่ แยกกันเราตาย และมีนโยบายของพรรค ดังนี้

นโยบายต่างประเทศ

1. พรรคนี้มุ่งดำเนินวิเทโศบายในการผูกมิตรกับทุกประเทศ โดยรักษาศักดิ์ศรีของชาติไทยให้ปรากฏ

2. ส่งเสริมสันติภาพ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโดยทุกวิถีทาง

นโยบายภายในประเทศ

1. เทิดทูนสิทธิเสรีภาพต่าง  ของประชาชน เช่น เสรีภาพ การพูด การเขียน การชุมนุมสาธารณะ การแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะยอมรับนับถือว่าหนังสือพิมพ์เป็นฐานันดรที่ 4

2. กำจัด กวาดล้าง และต่อต้านอภิสิทธิทั้งหลาย และระบบศักดินาให้สูญสิ้นไป

3. กำจัด กวาดล้าง การทุจริตในวงงานราชการ และทำลายล้างลัทธิการกินสินบนให้สูญสิ้นไป

4. ต่อต้านริดรอนการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนในทุกกรณี

การป้องกันประเทศ

1. ยึดถือหลักว่า “ทหารเป็นทหารของชาติและของประชาชน” ห้ามมิให้ทหารประจำการเกี่ยวข้องกับการเมือง

2. มีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เพียงแต่ให้พอป้องกันประเทศ

3. ทหารที่มีอยู่ต้องได้รับการช่วยเหลือและได้รับการบำรุงด้วยดี

4. ให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าทหารผ่านศึกอย่างจริงจังด้วยความเป็นธรรม

การศึกษาและศาสนา

1. ทุ่มเทงบประมาณเพื่อปรับปรุงการศึกษาของชาติไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้เยาวชนของชาติได้รับการศึกษา โดยไม่มีการจำกัด

2. ทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา ศานาอิสลาม คริสต์ศาสนา ทั้ง 3 ศาสนานี้เป็นพิเศษ

เศรษฐกิจ

1. รักษาไว้ซึ่งเอกราชทางเศรษฐกิจ

2. ส่งเสริมการประกอบการโดยรัฐในกิจการที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน

3. ค้นคว้าและทำประโยชน์ให้เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ

4. ส่งเสริมการสหกรณ์เพื่อช่วยการครองชีพของประชาชน

5. ส่งเสริมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของชาติ

6. ช่วยให้การกู้ยืมเงินของประชาชนพ้นจากการถูกขูดรีดดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่น  เกินสมควร

การคลัง

1. พยายามทำให้การเงินของชาติมั่นคง โดยมิต้องก่อหนี้สินที่จะเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น

2. ประหยัดการใช้จ่ายเงินของชาติอย่างจริงจัง

3. ปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม ลดหย่อนภาษีอากรบางประเภท และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีให้รัดกุมเข้มแข็งยิ่งขึ้น

4. จัดทำงบประมาณของชาติให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนร่วม และส่งผลถึงประชาชนจริง 

การเกษตร

1. ดำเนินการช่วยเหลือโดยทุกวิถีทางแก่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดผลพอกพูนในกิจการงานของบุคคลเหล่านี้

2. ช่วยปลดเปลื้องภาระผูกพันที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่มีอยู่กับคนกลาง นายทุน หรือเจ้าของที่ดิน

การศาล

อำนาจตุลาการต้องเป็นอิสระโดยเด็ดขาด เพื่อให้การพิจารณาคดีในโรงศาลเป็นไปด้วยความยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด

การสาธารณสุข

1. จัดสถานพยาบาล แพทย์ และยารักษาโรค ให้เพียงพอแก่การบริการประชาชน

2. จัดให้มีขึ้นและทำนุบำรุงการสุขาภิบาล และการอนามัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

การสังคม

1. ชนชั้นกรรมกร กสิกร คนยากจน คนชั้นกลาง และเยาวชนของชาติ เป็นบุคคลที่จะต้องได้รับความเอาใจใส่ และช่วยเหลือเป็นพิเศษ

2. คนชรา หญิง และเด็ก ย่อมได้รับการคุ้มครอง บำรุง และเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษ

3. จัดให้ประชาชนได้รับการอยู่ดีกินดี

บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.

ในการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ .. 2500 ปรากฏว่าพรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้ง .เพียง 2 คน จากจำนวน .. 160 คน หลังจากนั้นเกิดรัฐประหาร เดือนกันยายน .. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ จึงได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ปรากฏว่าพรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้ง .เพียงแค่คนเดียว ก่อนที่ คณะปฏิวัติ” จะออกประกาศ ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 20 ตุลาคม .. 2501 ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง .. 2498 ทำให้พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คสิ้นสุดสถานะพรรคการเมืองลงในที่สุด


อ้างอิง/ที่มาข้อมูล : 

บุญยัง สันธนะวิทย์.  (2502).  ไฮด์ปาร์คกับการล้มรัฐบาล.  ราชบุรีราชบุรีการพิมพ์

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ.  (2553).  แผนชิงชาติไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯพี.เพรส

ธิกานต์ ศรีนารา.  (2562).  ไฮด์ปาร์คจาก สถาบันพระปกเกล้า

นรนิติ เศรษฐบุตร.  (2562).  26 กุมภาพันธ์ .. 2500จาก สถาบันพระปกเกล้า

ประกาศกระทวงมหาดไทย เรื่องการจดทะเบียนพรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค เล่มที่ 73 ตอนที่ 30 ลงวันที่ 3 เมษายน 2499 ราชกิจจานุเบกษา

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร .. 2500 ครั้งที่ 2 เล่มที่ 74 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2500 จาก ราชกิจจานุเบกษา

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 เล่มที่ 75 ตอนที่ 83 ลงวันที่ 21 ตุลาคม .. 2501 ราชกิจจานุเบกษา