เปิดนโยบาย “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” เมื่อ พ.ศ. 2499 ห้ามทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง!!!
(ซ้าย) ภาพปกหนังสือไฮด์ปาร์คกับการล้มรัฐบาล ของ บุญยัง สันธนะวิทย์ ตีพิมพ์ พ.ศ. 2502
พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาไทย ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2499 เลขทะเบียนที่ 4/2499 มีนายเพทาย โชตินุชิตเป็นหัวหน้าพรรค นายชวน รัตนวราหะเป็นเลขาธิการพรรคในการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการต่อสู้ของพรรคเสรีมนังคศิลาที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ แต่ยังมี “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” อีกพรรคหนึ่งที่มีบทบาทการเมืองสำคัญของไทยในสมัยนั้น
ก่อนหน้าที่จะมีการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 นั้น การเมืองไทยอยู่ในช่วงแข่งขันชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็น “การเมืองสามเส้า” มีจอมพล ป. ฝ่ายหนึ่ง กลุ่มสี่เสาว์เทเวศร์ นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝ่ายหนึ่ง และกลุ่มซอยราชครู นำโดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ฝ่ายหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. ได้เดินทางรอบโลกภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยจอมพล ป. จึงเริ่มรณรงค์ “ประชาธิปไตย” โดยให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ที่สนามบินดอนเมืองว่า “การทัศนาจรรอบโลกครั้งนี้ได้ผลคุ้มค่า เพราะได้ความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นของฝากแก่พี่น้องชาวไทย”
สิ่งนั้นคือ “ไฮดปาร์ค”
ไฮด์ปาร์คคือการชุมนุมอย่างหนึ่งเป็นการ “พูด” ที่สาธารณะในเรื่องต่าง ๆ (คลิกอ่านต้นกำเนิดของไฮด์ปาร์คได้ที่นี่) ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยในยุคนั้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างจริงจัง ขณะที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มตีพิมพ์ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ว่า “ไฮด์ปาร์ค” จะเกิดขึ้นที่สนามหลวงเป็นครั้งแรกของประเทศ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม แจกขนมเด็กๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2499ผู้ที่ริเริ่มจัดไฮด์ปาร์คคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ อดีต ส.ส. ธนบุรี ได้เชิญนักพูดและนักการเมืองหลายคนมาร่วมไฮด์ปาร์ค เช่น นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส. ศรีสะเกษ ไฮด์ปาร์ดที่สนามหลวงได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมากขึ้นจนพัฒนากลายเป็น “สภาประชาชน” หรือ “สภาท้องสนามหลวง” จนคำว่าไฮด์ปาร์คนั้นติดหูคนไทยไปเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าไม่นานกลับไม่รู้จักคำนี้ว่าคืออะไร
รัฐบาลจอมพล ป. เริ่มวิตกกังวลกับขบวนการไฮด์ปาร์ค แต่ทั้งนี้ก็เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเองที่เมื่อแรกมีการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจแม้แต่น้อย ประชาชนจึงคิดว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน จึงมีการเดินขบวนชุมนุมของขบวนการไฮด์ปาร์คในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 โจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง ส.ส. ประเภทที่ 2 ถึงขนาดที่นายเพทาย โชตินุชิต ได้กรีดเลือดประท้วงเรียกร้องให้มีการยกเลิก ส.ส. ประเภทนี้
การไฮด์ปาร์คจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องข้ามปีไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มมีการหาวิธีต่อสู้ที่หนักหน่วงมากขึ้น นั่นคือการอดข้าวประท้วง นำโดย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ รัฐบาลจึงดำเนินการจับกุมผู้ประท้วง ก่อนจะปล่อยตัวผู้ประท้วงทั้งหมดในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2499
หลังจากเหตุการณ์ “กบฏอดข้าว” นี้ รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีจึงออกแถลงการณ์ห้ามการไฮด์ปาร์คด้วยเหตุผลว่า “พูดเกินขอบเขตเป็นอันมาก” อีกทั้งกรมตำรวจก็ใช้ “เครื่องมือ” กล่าวอ้างว่ามีความพยายามแทรกแซงจากพวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นไฮด์ปาร์คจึงสลายตัวไปโดยปริยาย แต่ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การจดทะเบียนตั้ง “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
ทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าของฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ค” ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว
ในประกาศกระทวงมหาดไทย เรื่องการจดทะเบียนพรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค ได้ระบุถึงอุดมการณ์ของพรรค 4 ข้อคือ 1. เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ 2. ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน 3. ประชาชนเป็นใหญ่ 4. รวมกันอยู่ แยกกันเราตาย และมีนโยบายของพรรค ดังนี้
นโยบายต่างประเทศ
1. พรรคนี้มุ่งดำเนินวิเทโศบายในการผูกมิตรกับทุกประเทศ โดยรักษาศักดิ์ศรีของชาติไทยให้ปรากฏ
2. ส่งเสริมสันติภาพ หาทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโดยทุกวิถีทาง
นโยบายภายในประเทศ
1. เทิดทูนสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชน เช่น เสรีภาพ การพูด การเขียน การชุมนุมสาธารณะ การแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะยอมรับนับถือว่าหนังสือพิมพ์เป็นฐานันดรที่ 4
2. กำจัด กวาดล้าง และต่อต้านอภิสิทธิทั้งหลาย และระบบศักดินาให้สูญสิ้นไป
3. กำจัด กวาดล้าง การทุจริตในวงงานราชการ และทำลายล้างลัทธิการกินสินบนให้สูญสิ้นไป
4. ต่อต้านริดรอนการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนในทุกกรณี
การป้องกันประเทศ
1. ยึดถือหลักว่า “ทหารเป็นทหารของชาติและของประชาชน” ห้ามมิให้ทหารประจำการเกี่ยวข้องกับการเมือง
2. มีกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เพียงแต่ให้พอป้องกันประเทศ
3. ทหารที่มีอยู่ต้องได้รับการช่วยเหลือและได้รับการบำรุงด้วยดี
4. ให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าทหารผ่านศึกอย่างจริงจังด้วยความเป็นธรรม
การศึกษาและศาสนา
1. ทุ่มเทงบประมาณเพื่อปรับปรุงการศึกษาของชาติไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้เยาวชนของชาติได้รับการศึกษา โดยไม่มีการจำกัด
2. ทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา ศานาอิสลาม คริสต์ศาสนา ทั้ง 3 ศาสนานี้เป็นพิเศษ
เศรษฐกิจ
1. รักษาไว้ซึ่งเอกราชทางเศรษฐกิจ
2. ส่งเสริมการประกอบการโดยรัฐในกิจการที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชน
3. ค้นคว้าและทำประโยชน์ให้เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ
4. ส่งเสริมการสหกรณ์เพื่อช่วยการครองชีพของประชาชน
5. ส่งเสริมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของชาติ
6. ช่วยให้การกู้ยืมเงินของประชาชนพ้นจากการถูกขูดรีดดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่น ๆ เกินสมควร
การคลัง
1. พยายามทำให้การเงินของชาติมั่นคง โดยมิต้องก่อหนี้สินที่จะเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น
2. ประหยัดการใช้จ่ายเงินของชาติอย่างจริงจัง
3. ปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม ลดหย่อนภาษีอากรบางประเภท และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีให้รัดกุมเข้มแข็งยิ่งขึ้น
4. จัดทำงบประมาณของชาติให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนร่วม และส่งผลถึงประชาชนจริง ๆ
การเกษตร
1. ดำเนินการช่วยเหลือโดยทุกวิถีทางแก่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดผลพอกพูนในกิจการงานของบุคคลเหล่านี้
2. ช่วยปลดเปลื้องภาระผูกพันที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่มีอยู่กับคนกลาง นายทุน หรือเจ้าของที่ดิน
การศาล
อำนาจตุลาการต้องเป็นอิสระโดยเด็ดขาด เพื่อให้การพิจารณาคดีในโรงศาลเป็นไปด้วยความยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมายโดยเคร่งครัด
การสาธารณสุข
1. จัดสถานพยาบาล แพทย์ และยารักษาโรค ให้เพียงพอแก่การบริการประชาชน
2. จัดให้มีขึ้นและทำนุบำรุงการสุขาภิบาล และการอนามัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
การสังคม
1. ชนชั้นกรรมกร กสิกร คนยากจน คนชั้นกลาง และเยาวชนของชาติ เป็นบุคคลที่จะต้องได้รับความเอาใจใส่ และช่วยเหลือเป็นพิเศษ
2. คนชรา หญิง และเด็ก ย่อมได้รับการคุ้มครอง บำรุง และเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษ
3. จัดให้ประชาชนได้รับการอยู่ดีกินดี
บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.ในการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าพรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้ง ส.ส. เพียง 2 คน จากจำนวน ส.ส. 160 คน หลังจากนั้นเกิดรัฐประหาร เดือนกันยายน พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ จึงได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ปรากฏว่าพรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแค่คนเดียว ก่อนที่ “คณะปฏิวัติ” จะออกประกาศ ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ทำให้พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คสิ้นสุดสถานะพรรคการเมืองลงในที่สุด
อ้างอิง/ที่มาข้อมูล :
บุญยัง สันธนะวิทย์. (2502). ไฮด์ปาร์คกับการล้มรัฐบาล. ราชบุรี: ราชบุรีการพิมพ์
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2553). แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: พี.เพรส
ธิกานต์ ศรีนารา. (2562). ไฮด์ปาร์ค, จาก สถาบันพระปกเกล้า
นรนิติ เศรษฐบุตร. (2562). 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500, จาก สถาบันพระปกเกล้า
ประกาศกระทวงมหาดไทย เรื่องการจดทะเบียนพรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค เล่มที่ 73 ตอนที่ 30 ลงวันที่ 3 เมษายน 2499 ราชกิจจานุเบกษา
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2500 ครั้งที่ 2 เล่มที่ 74 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2500 จาก ราชกิจจานุเบกษา
ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 เล่มที่ 75 ตอนที่ 83 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ราชกิจจานุเบกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น