วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565

 90 ปีแห่งการปกครองระบอบเผด็จการในประเทศไทย

 


24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่คณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และ

คณะราษฎร์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้กระทำการ 2 เรื่อง คือ

1. เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

2. เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา

อย่างแรกเป็นคุณความดีที่คนไทยจะต้องระลึกถึง อย่างหลังเป็นความเลวร้ายที่คนไทยสาปแช่งจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงคณะราษฎร์ เรามักจะพูดถึงแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการเรามักไม่พูดถึง

มีแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 พระองค์เดียวทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน

เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษย์เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะพระองค์ทรงมีพระราชดำริมาก่อนแล้วที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร์ได้ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน นำเอาระบบรัฐสภามาใช้ และประกาศฯนโยบายหลักเรียกว่าหลัก 6 ประการ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชน และสามวันต่อมาก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย เหล่านี้ทำให้คณะราษฎร์และองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยเหล่านั้น มีฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย นั่นคือการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ด้วยความสนับสนุนช่วยเหลือของรัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ตามคำขอร้องของคณะราษฎร์

หลังจากสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแล้ว คณะราษฎร์ก็เริ่มเขวออกนอกทาง เริ่มแสดงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ละทิ้งนโยบายประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ ซึ่งทำให้คณะราษฎร์หมดฐานะของความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และในที่สุดยกเลิกหลักประชาธิปไตยที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเปลี่ยนความว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ (อำนาจอธิปไตย ) เป็นของ ปวงชน มาเป็นอำนาจอธิปไตย มาจาก ปวงชน เพื่อหลอกลวงประชาชนว่า เมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย

กระบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการนี้คณะราษฎร์เริ่มกระทำตั้งแต่ปฏิวัติประชาธิปไตยเสร็จใหม่ ๆ และแสดงออกมาอย่างเป็นทางการโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งได้ยกเลิกหลักการปกครองอันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย โดยเปลี่ยนคำว่าอำนาจอธิปไตย เป็นของ ปวงชน เป็นอำนาจอธิปไตย มาจาก ปวงชน

ฉะนั้นวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงเป็นวันเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการ ตรงกันข้ามกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

การที่คณะราษฎร์เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงคัดค้านอย่างรุนแรง ดังตัวอย่างพระราชบันทึกบางตอนซึ่งทรงเสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2477 ดังนี้

ข้าพเจ้าของชี้แจงเสียโดยชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯ และคณะผู้ก่อการฯ ขอร้องให้ข้าพเจ้าคงอยู่ครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายินดีรับรอง ก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่า คณะผู้ก่อการ ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบ ประชาธิปไตย หรือ Democratic Government ตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษ และประเทศอื่น ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่จะบรรดาลให้เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ และได้กล่าวถึงความประสงค์นั้นโดยเปิดเผยหลายครั้งหลายหน โดยเหตุนี้ เมื่อคณะผู้ก่อการฯ ขอร้องให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงรับรองทันที โดยไม่มีเหตุขัดข้องอยางใดเลย ครั้นต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา ว่าควรถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ Democracy อันแท้...ต่อมาข้าพเจ้าได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญ (สมาชิกประเภทที่สองเท่ากับประเภทที่หนึ่ง ผู้เขียน) และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นอันมากจนมีการริเริ่มจะล้มรัฐบาลเสียด้วยพละการ เพื่อแก้ไขหลักการข้อนี้ตั้งแต่ก่อนกระทำพิธีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ...(เวลานี้ ส.ว. มีจำนวนถึงสามในสี่ของ ส.ส. หนักกว่าสมัยโน้นเสียอีก ผู้เขียน)...การปกครองที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อม ๆ ไม่ใช่ Democracy จริง ๆ เลย...เป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิ Democracy โดยแท้...ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่าข้าพเจ้าจะยอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น ” (จากพระราชบันทึกของรัชกาลที่ 7 เพื่อ พ.ศ. 2477 )

และเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคณะราษฎร์ได้ รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งทรงประกาศไว้ตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะยินยอมให้บุคคลหรือคณะใด ดำเนินการปกครองวิธีนี้ ในนามของข้าพเจ้า

สมเด็จพระปกเกล้าทรงสนับสนุนช่วยเหลือคณะราษฎร์ เมื่อคณะราษฎร์ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการและพระองค์ไม่สามารถจะทัดทาน จึงทรงสละราชสมบัติ

คณะราษฎร์เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และเปลี่ยนเป็นระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบเมื่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2481 โดยใช้รูปของเผด็จการรัฐสภา ครั้นถึง พ.ศ. 2490 ก็เปลี่ยนเป็นระบอบเผด็จการรัฐประหาร และตั้งแต่นั้นมาระบอบเผด็จการของประเทศไทยก็สลับกันระหว่างระบอบเผด็จการรัฐประหารกับระบอบเผด็จการรัฐสภามาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยกลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกเลย กล่าวจากแง่นี้ปัจจุบันนี้ ตัวแทนประชาชนไม่มีเลยมีแต่แต่งตั้ลล้วนๆ หนักกว่าสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงคัดค้านถึงกับต้องสละราชสมบัติ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกประเภทที่สองเท่ากับประเภทที่หนึ่งเท่านั้น

แต่เมื่อคณะราษฎร์เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการแล้วก็ยิ่งโหมการโฆษณาว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงกับมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสถานีวิทยุท่องรัฐธรรมนูญทุกวันนั้น แบบเดียวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ซึ่งหลังจากพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งนำโดย ดร.ยัดเซ็นทำเสร็จแล้วไม่นาน นายพลยวนชีไขและจอมพลเจียงไคเช็ค ในนามของพรรคก๊กมินตั๋งก็เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการเสียโดยการโฆษณาเป็นการใหญ่ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยตามหลักคำสอนของซุนยัดเซ็นและไม่เคยกลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกเลย จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนโค่นระบอบเผด็จการนั้นลงเสียเมื่อ พ.ศ. 2492

ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เมืองไทยมีระบอบประชาธิปไตยอยู่เพียงช่วงสั้นๆ จากนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 90 ปีแล้วเป็นระบอบเผด็จการมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

(ข้อมูลจากแฟ้มเอกสารของท่านอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร)

edit:thongkrm_virut@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น