การปฏิวัติประชาชน
“การปฏิวัติประชาชน” ในมุมมองของนักลัทธิเศรษฐกิจการเมือง (ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นข้อเขียนที่สรุปจากหนังสือ” “ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2518 ซึ่งเขียนโดยท่านอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ว่า “การปฏิวัติประชาชน” ในมุมมองของลัทธิเศรษฐกิจการเมือง ในเชิงเปรียบเทียบถึงความสำเร็จ และล้มเหลว และสาเหตุ ที่จะเป็นการจุดประกายความคิดและประสพการณ์ต่อไปในภายภาคหน้า) ในทุกๆหัวข้อการศึกษาย่อมมีงานคลาสสิกในความหมายที่ว่า เป็นงานซึ่งจุดประกายความคิด คุณภาพสูง หรือมีความรอบด้านอย่างกว้างขวางจนเป็นที่จำเป็นจะต้องอ่านสำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษาในหัวข้อนั้นๆ สำหรับหัวข้อ “ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง” ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยงานของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา น่าที่จะสามารถจัดอยู่ในกลุ่มนั้นได้ไม่ยากนัก งานเรื่อง “ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2518 เล่มนี้ ประกอบไปด้วย 10 บทครอบคลุมลัทธิเศรษฐกิจการเมืองอาทิ ลัทธิเทวสิทธิ์, ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิ์, สังคมนิยมยูโทเปีย,ลัทธิประชาธิปไตย เสรีนิยม, มาร์กซิสม์, เลนินนิสม์, สังคมนิยมประชาธิปไตย, ลัทธิเผด็จการ และ ฟาสซิสม์ ซึ่งได้ให้มุมมองต่อจุดยืนของลัทธิเหล่านี้ในเรื่องทาง “เศรษฐกิจ” และ ”การเมือง” เอาไว้และหนึ่งในส่วนที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งก็คือ จุดยืนทางการเมืองต่อการปฏิวัติของลัทธิต่างๆ บทความนี้จะทบทวนถึงสิ่งที่ ฉัตรทิพย์ (2518) ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่าลัทธิแต่ละลัทธิมีความเห็นต่อการปฏิวัติอย่างไร และเหตุผลเบื้องหลังที่สนับสนุนความเห็นเหล่านั่นเป็นเช่นไรมาสรุปเอาไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทำความเข้าใจ ทว่าการกล่าวถึงการปฏิวัติอันเป็นขอบเขตของบทความนี้จะกล่าวถึงเพียง การปฏิวัติประชาชน (Citizen revolution) เท่านั้น ไม่นับรวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติโดยกำลังทหารในความหมายที่ว่า เป็นสถาบันทางทหารในระบบราชการ-รัฐเองเป็นผู้รัฐประหารหรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเสียเอง โดยเริ่มจากลัทธิที่หนังสือกล่าวถึงเป็นท้ายสุดก่อนนั่นคือ ลัทธิเผด็จการฟาสซิสม์ ซึ่งบูชาชาติและรัฐ และถือสิ่งที่เป็นนามธรรมร่วมกันมากกว่าสภาวะความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริงของมนุษย์ แนวคิดเช่นนี้มีรากฐานทางจิตนิยม (idealism) เช่นเดียวกับที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของลัทธิเทวสิทธิ์ ซึ่งทำให้ลัทธินี้มีแนวโน้มที่จะมองว่าการยึดถือระเบียบของรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข และเน้นความสามัคคีอย่างยิ่งยวดจนละเลยเสรีภาพของเอกชน ดังนั้น, ภายใต้โลกทัศน์เช่นนี้, การปฏิวัติประชาชนจึงไม่ใช่สิ่งที่ลัทธินี้จะยินยอมให้เกิดขึ้นได้เพราะการปฏิวัติประชาชนหมายถึงการประหารรัฐ การทำให้ชีวิตของรัฐไม่ต่อเนื่องขาดตอน ในขณะที่มาร์กซิสม์ และ เลนินนิสม์ มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับการทำปฏิวัติประชาชนด้วยสาเหตุที่ว่า ทั้งสองลัทธิมีมุมมองต่อระบอบทุนนิยมในทางลบ ทั้งนี้เพราะระบอบทุนนิยมในความหมายของทั้งสองลัทธินั้น มีนัยคือโครงสร้างของระบบที่ก่อให้เกิดการขูดรีด (exploitation) และการขูดรีดที่ว่ามานี้ก็มีรัฐเป็นส่วนช่วยเหลืออย่างสำคัญให้มันดำเนินต่อไปได้โดยไม่ถูกล้มล้างให้หายไป นัยนี้ รัฐในมุมมองของ มาร์กซิสม์ และ เลนินนิสม์ จึงไม่เป็นกลางแต่เอียงข้างเข้าหาทุน การจะล้มทุนจึงต้องล้มผ่านการล้มรัฐ ที่เรียกว่ารัฐเผด็จการกระฎุมพี (dictatorship of bourgeoisie) ลงเสีย ความแตกต่างอย่างสำคัญของทั้งสองลัทธินี้ก็คือ มาร์กซิสม์มองว่าภาวะของการปฏิวัติประชาชนจะเกิดขึ้นเองโดยภาววิสัย เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกระบวนการขูดรีดจะดำเนินไปจนถึงจุดที่กรรมาชีพซึ่งตกเป็นฝ่ายถูกขูดรีดมีมากเพียงพอจะปฏิวัติ มาร์ซิสม์จึงไม่ได้กล่าวว่า “จงปฏิวัติ” แต่มาร์กซิสม์ทำนายว่า “มันจะเกิดขึ้น” ในแง่นี้มาร์กซิสม์ยอมรับการปฏิวัติประชาชนก็จริงแต่เป็นการยอมรับโดยไม่ได้มีการตัดสินเชิงคุณค่า (moral judgment) ว่าการปฏิวัติประชาชนเป็นเรื่องที่ดีหรือเลวโดยตัวเอง กลับกัน, เลนินนิสม์มองว่าการปฏิวัติเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่เลนินนิสม์ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติประชาชนจะเกิดขึ้นเองได้ สำนึกแห่งการปฏิวัติในความเห็นของเลนินนิสม์จะต้องสร้างขึ้นโดยพรรคการเมือง (party) โดยนำเอาชนชั้นที่ถูกขูดรีดทั้งหมดมาเป็นแนวร่วม การที่ใช้ชนชั้นที่ถูกขูดรีดทั้งหมดมาเป็นแนวร่วมนั้นก็หมายความว่าไม่ได้มีเพียงกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเข้าร่วมกับการปฏิวัติประชาชน เมื่อไม่จำกัดอยู่เพียงกรรมาชีพการปฏิวัติของเลนินนิสม์จึงเป็นการปฏิวัติที่ไม่ต้องรอจังหวะเวลาของการเติบโตของกระบวนการทางทุนนิยม การปฏิวัติในแบบของเลนินนิสม์จึงได้ขยายพรมแดนทางเวลาไปสู่ขอบเขตที่มาร์กซ์ไม่ได้ทำนายเอาไว้นั้นคือการปฏิวัติในสังคมศักดินา หรือสังคมที่เป็นราชาธิราช หรือสังคมใดใดก็ได้ที่ผู้ถูกขูดรีดมากเพียงพอ การยืนยันแนวคิดเรื่องการปฏิวัติประชาชนของมาร์กซิสม์และเลนินนิสม์นี้วางอยู่บนรากฐานร่วมกัน 2 ประการคือ 1. วิภาษวิถี (Dialectics) ซึ่งเชื่อว่าความขัดแย้งจะนำไปสู่สิ่งใหม่ที่มีการพัฒนาเชิงคุณภาพ และ 2. เชื่อว่ารัฐไม่มีความเป็นกลาง ทว่ายังมีลัทธิที่มองแตกต่างออกไปในสองประเด็นนี้อย่างชัดเจนอาทิ ลัทธิสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือลัทธิเสรีนิยม ทั้งลัทธิสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือลัทธิเสรีนิยม ล้วนเชื่อว่ารัฐเป็นของกลางที่สามารถจะต่อรองได้ รากฐานความเข้าใจต่อตัวรัฐในแง่นี้ไม่ได้เกิดจากการที่มองว่ารัฐเป็นสิ่งนามธรรมซึ่งแยกต่างหากไปจากเจตจำนงของคน มองแบบมนุษย์นิยม (Humanism) ก็คือ รัฐเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้น ดังนั้นคนย่อมเปลี่ยนแปลงรัฐได้ เมื่อคนเปลี่ยนแปลงรัฐได้ก็ไม่ต้องประหารรัฐ หรือไม่ต้องปฏิวัติประชาชน ในแง่นี้สำหรับสังคมนิยมประชาธิปไตยแล้ว การจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติ หรือสังคมที่ลดการขูดรีด นั้นสามารถที่จะกระทำได้ผ่านกระบานการต่อรองทางการเมือง ในแง่นี้สังคมนิยมประชาธิปไตยไม่ได้มองว่าการต่อสู้ทางชนชั้น (Class struggle) ด้วยการปฏิวัติประชาชนจะเป็นหมุดหมายหรือเป็นเครื่องมือหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไปแล้ว ในขณะที่เสรีนิยมประชาธิปไตยยิ่งมีความเชื่อมั่นในกระบวนการทางสัญญาประชาคม (social contract) ที่ว่าประชาชนทุกคนได้มอบอำนาจของตนเอง (consent) เข้าไปให้เกิดรัฐขึ้นมาก็เพื่อที่จะคุ้มครองซึ่งสิทธิ์พื้นฐานของตนเอง เช่นสิทธิ์เหนือทรัพย์สินเอกชน (private property right) เป็นต้น ดังนั้นหากรัฐไม่สามารถที่จะคุ้มครองซึ่งสิทธิ์เหล่านี้ได้ ประชาชนในรัฐก็มีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นเรียกเอาอำนาจของตนเองคืนมา นอกจากนี้หากผู้ปกครองปกครองแบบเผด็จการซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง การปฏิวัติประชาชนเพื่อที่จะวิวัฒน์การปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็ยังได้รับการสนับสนุนจากลัทธิเสรีนิยมเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า มุมมองของลัทธิทางเศรษฐกิจการเมืองต่างๆต่อการปฏิวัติประชาชนนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละลัทธิก็มีปรัชญารากฐานแตกต่างกันในการพยายามทำความเข้าใจรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนผ่านแง่มุมทางเศรษฐกิจและการเมือง การปฏิวัติของประชาชนจึงไม่ใช่สิ่งสากล ซึ่งมีความสลับซับซ้อนกว่าการปฏิวัติโดยทหารอยู่มากทีเดียว. (จากแฟ้มเอกสารของท่านอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร)
ขอบคุณข้อมูล:ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
edit : thongkrm_virut@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น