วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

เชือด เชเชน Part I Days Before

เชือด เชเชน   Part I Days Before         

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ที่กองทัพนาซีทำการสังหารชาวยิวล้มตายลงไปถึงสี่ในสิบส่วน...



...มันเป็นเรื่องที่โหดร้าย น่าสะพรึงกลัว...

ผมเชื่อว่าอีกหลายท่านคงจะเคยได้ยินเรื่องราวการสงครามเวียดนามที่ประเทศเล็กอย่างเวียดนามเหนือ สามารถต่อสู้เอาชนะประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกำลังเหนือกว่าอย่างประมาณมิได้



...ความทรหดของพวกเวียดนามเป็นเรื่องน่าทึ่ง...

แต่ถ้าผมจะบอกว่ามีเรื่องราวที่จะทำให้ความน่ากลัวของเรื่องยิวและความน่าทึ่งของเรื่องเวียดนามกลายเป็นของเด็กๆไปเลยล่ะ?

...

ครับ... ในครั้งนี้ผมจะพาท่านไปพบกับ ชาวเขาเผ่าหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในที่กันดารห่างไกล ดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ ทำเกษตร

ดูผิวเผิน พวกเขาเป็นเพียงชาวเขาธรรมดา...



...หากชาวเขาเผ่านี้มีเรื่องราวที่โหดร้ายและพิสดารเป็นอย่างยิ่ง...



...ในเรื่องนี้ ท่านจะได้เห็นโคตรอภิมหามหันตภัยที่ซัดโถมเข้ามาใส่พวกเขาระลอกแล้วระลอกเล่า ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาดำรงอยู่...



...ท่านจะได้เห็นการที่ประชาชาติหนึ่งเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างของตนเป็นเครื่องจักรสงครามเพื่อการเอาตัวรอด...



...ท่านจะได้เห็นว่าหลังจากการสูญเสียทุกสิ่งอย่างแล้ว มันก็ยังมีอะไรให้สูญเสียได้อีก...



ท่านจะเห็นการดิ้นรน การดิ้นรน และการดิ้นรน!



ท่านจะเห็นการสิ้นชาติ การสิ้นชาติ และ การสิ้นชาติอีกครั้ง!



...ท่านจะเห็นการจมดิ่งสู่ความเลวทราม...



ท่านจะได้เห็นการเชือดเฉือน และการพังทลาย



...มันเป็นเรื่องที่น่ากลัว...



...หลังจากอ่านเรื่องราวนี้จบแล้ว ...บางทีท่านอาจจะตระหนักขึ้นมาว่า...

“ชาติ” นั้นเป็นของที่มีราคาแพงเพียงใด...



:::  :::  :::

เรียนผู้อ่านทุกท่าน กระทู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของสารคดีสงครามชุด The Wild Chronicles หากชื่นชอบสามารถกดไลค์เพจผมได้ที่ https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat นะครับ


ในปี 2009 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศว่าสงครามชนกลุ่มน้อยเชเชนซึ่งดำเนินติดต่อกันมาเก้าปีได้สงบลงแล้ว โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

สิ่งที่ทราบกันโดยทั่วไปคือกบฏเชเชนนั้นอยู่ในเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ สงครามนี้จึงอาจนับเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายครั้งหนึ่ง เหมือนกับการต่อต้านก่อการร้ายอื่นๆซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตามผมอยากกล่าวว่าสงครามระหว่างเชเชนกับรัสเซียนั้นมีที่เบื้องหลังที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน เกี่ยวโยงกับความเป็นมาในประวัติศาสตร์อย่างมีนัยยะสำคัญ เกินกว่าจะสามารถอธิบายได้โดยย่นย่อ

ผมจึงขออุทิศกระทู้แรกในซีรีย์นี้พูดถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดของชาวเชเชนก่อนเริ่มของสงคราม

เชเชน และเทือกเขาคอเคซัส

“เชเชน” เป็นชื่อของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง มีประชากรประมาณหนึ่งล้านสองแสนคน อาศัยอยู่ในประเทศที่มีชื่อว่า “เชชเนีย” ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดตากเท่านั้น

เชชเนียนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาคอเคซัส ซึ่งทอดตระหง่านเป็นพรมแดนกั้นทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย ประกอบด้วยยอดเขาเอลบรุสซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรป ถูกขนาบข้างด้วยทะเลแคสเปียนทางตะวันออกและทะเลดำทางตะวันตก


เทือกเขาคอเคซัส

บริเวณเทือกเขาคอเคซัสประกอบด้วยชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอยู่มากมายถึงยี่สิบแปดชาติ แบ่งตามภาษายังได้เป็นสามตระกูลใหญ่ สิบตระกูลย่อย นับเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เรียกว่าเดินข้ามเขาไปหนึ่งลูกก็พูดกันไม่เข้าใจแล้ว


เชชเนีย

ชื่อเทือกเขาคอเคซัสนี้ยังเป็นที่มาของชื่อ “คอเคเซียน” (คอเคซอยด์ก็เรียก) ซึ่งท่านอาจจะเคยได้ยินร่วมกับชื่อ “มองโกลอยด์” หรือ “นิกรอยด์” อันเป็นชื่อสำหรับใช้แบ่งชาติพันธุ์คนในโลกออกจากกัน


คอเคซอยด์ มองโกลอยด์ และนิกรอยด์

โดยทั่วไปในปัจจุบันคอเคเซียนจะหมายถึงเทือกของฝรั่ง ยิว อาหรับ อินเดีย ฯลฯ; มองโกลอยด์จะหมายถึงเทือกของญี่ปุ่น จีน ไทย มาเลย์ฯลฯ; ส่วนนิกรอยด์จะหมายถึงพวกคนแอฟริกา อะบอริจิน และชาวเกาะทะเลใต้อีกหลายเผ่า

อย่างไรก็ตามคนกลุ่มแรกสุดที่ใช้คำนี้เป็นนักวิชาการเยอรมันสมัยปลายศตวรรษที่ 18 นำโดยนักปรัชญาชื่อคริสตอฟ ไมเนอร์ ตอนนั้นเขาแบ่งชนชาติในโลกออกเป็นเพียงสองพวกได้แก่คอเคเซียนกับมองโกลอยด์ มีเกณฑ์แบ่งที่เรียบง่ายมาก กล่าวคือ “คอเคเซียน” หมายถึงชนชาติที่หน้าตาดี ประกอบด้วยพวกฝรั่ง ส่วน “มองโกลอยด์” หมายถึงชนชาติที่หน้าตาขี้เหร่ ประกอบด้วยอะไรที่ไม่เหมือนฝรั่ง
(ที่เรียกว่าคอเคเซียนเพราะฝรั่งที่อยู่แถบเทือกเขาคอเคซัสนั้นเป็นพวกที่ "สวยมาก" นับเป็นฝรั่งพันธุ์แท้หนึ่งกิโลต้องมีสามสิบบาทขึ้นไป)


หญิงสาวชาวเชเชน


ชาวเชเชนเต้นรำในชุดประจำชาติ

ดังนั้นหากถามว่าเผ่าเชเชนเป็น “ฝรั่ง” หรือ “แขก” คำตอบคือเขาอาศัยอยู่ในซีกเหนือของเทือกเขาคอเคซัสซึ่งเป็นทวีปยุโรป จึงนับเป็น “ฝรั่ง” ส่วนจะขี้นกแค่ไหนนั้นขึ้นกับเรานิยามคำว่าขี้นกอย่างไร

...ถ้าขี้นกหมายถึงความจน พวกเชเชนเป็นฝรั่งที่ขี้นก “มาก”

...ถ้าขี้นกหมายถึงสายเลือดอันบริสุทธิ์ พวกเชเชนเป็นฝรั่งที่ขี้นก “น้อย” เพราะนักวิชาการเยอรมันถึงกับยกย่องให้พวกเขาเป็นตัวแทนของฝรั่งทั้งหมด (บรรยากาศเชื้อชาตินิยมในหมู่ชาวเยอรมันนี้ ต่อมาได้รับการพัฒนาไปเป็นอุดมการณ์ของพรรคนาซีซึ่งได้รับการนับถือว่าเป็นฝรั่งที่ขี้นกน้อยที่สุดในสามโลก)


รูปฝรั่งที่ขี้นกน้อยที่สุดในโลก ส่วนด้านขวาคือแมวที่หน้าตาคล้ายกัน

เชเชนเรียกเผ่าตัวเองว่า “ไวแนค” มีชนชาติที่นับญาติได้จริงๆอยู่เพียงชาติเดียวได้แก่พวกอินกุชซึ่งมีประเทศชื่ออินกุสเชเตียตั้งอยู่ติดกับเชชเนีย

แม้ทั้งสองเผ่าจะใกล้เคียงกันมาก ดินแดนก็ติดกัน แต่ไม่ถึงกับสื่อสารภาษากันรู้เรื่องทั้งหมดโดยไม่ต้องเรียน ทั้งนี้เพราะเคยถูกแบ่งแยกไปเป็นอาณานิคมของชาติอื่นเป็นระยะเวลายาวนาน ทุกท่านจำชื่อพวกอินกุชไว้ดีๆนะครับ จะมีเรื่องราวขนานกันไปอีกยาว


การรุกรานของออสเซเตีย

เมื่อถามว่าดินแดนเทือกเขาคอเคซัสนั้นมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไร?

ผมอยากเปรียบเทียบเทือกเขาคอเคซัสกับ "เก็งจิ๋ว" หากใครเคยอ่านสามก๊กจะพบว่าอยู่เฉยๆเก็งจิ๋วไม่ได้มีความพิเศษสำคัญด้วยตัวมันเอง แต่เมื่อแผ่นดินแบ่งเป็นสามก๊กแล้ว เก็งจิ๋วเผอิญอยู่กึ่งกลางระหว่างสามอาณาจักรใหญ่ มันจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ไปโดยปริยาย


ปัจจุบัน ดินแดนคอเคซัสยังคงเป็นสมรภูมิระหว่างชาติมหาอำนาจคือรัสเซีย ตุรกี อิหร่าน ล่างไปกว่านั้นยังมีกลุ่มชาติอาหรับมาร่วมช่วงชิงด้วย

คอเคซัสก็เหมือนกัน โดยตัวมันเองแล้วเป็นดินแดนภูเขา ทำการเพาะปลูกได้น้อย แต่ด้วยอะไรบางอย่างทำให้มักจะกลายเป็นพรมแดนกันชนระหว่างอาณาจักรใหญ่ อาณาจักรเช่นโรมัน เปอร์เซีย รัสเซีย อาหรับ มองโกล เติร์ก ล้วนแล้วแต่เคยมีคอเคซัสเป็น “ประจันตประเทศ” ประชิดอาณาจักรศัตรู ทำให้เกิดมีสงครามช่วงชิงดินแดนนี้กันบ่อยครั้ง

เชื่อกันว่าชาวเชเชนอพยพจากตะวันออกกลางมาสู่เทือกเขาคอเคซัสเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว พวกเขามีศาสนาของตัวเองคือนับถือผี ตั้งอาณาจักรของตัวเองชื่อว่า “เซิร์ดซัก”


เทพีทูชูลีซึ่งเป็นเทพโบราณของไวแนค ถือนกฮูปูอีอันเป็นนกศักดิ์สิทธิ

ตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล พวกเขาถูกรุกรานโดยชนเผ่าออสเซเตีย (มีความใกล้เคียงกับอิหร่าน) ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอยู่ถึงหนึ่งพันปี จบลงในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 ด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ แต่นั่นคือหลังจากดินแดนและประชากรของชาวเชเชนถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนตะวันตกนั้นถูกยึดครองกลืนชาติกลายเป็นออสเซเตียนจนหมดสิ้น ส่วนตะวันออกได้ผูกมิตรกับอาณาจักรจอร์เจียทางทิศใต้ และเอาตัวรอดมาได้สำเร็จ (จอร์เจียเป็นชาวคอเคซัส ซึ่งเป็นญาติห่างๆของเชเชน)

การสวามิภักดิ์ต่อจอร์เจียทำให้เชเชนมีกำลังแข็งกล้าขึ้น พวกเขารับศาสนาคริสต์จากจอร์เจียมาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการนับถือเพื่อเอาใจจอร์เจียเท่านั้น แท้จริงแล้วพวกเขายังนับถือผีปนคริสต์อยู่เสมอ


สัญลักษณ์ของดีลา สุริยเทพในศาสนาเชเชน
การรุกรานของมองโกล

ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบสามก็มีเหตุให้จอร์เจียไม่อาจคุ้มครองเชเชนได้อีกต่อไป ด้วยถูกรุกรานโดยกองทัพที่แกร่งกล้าที่สุดในยุคนั้นซึ่งมีชื่อว่า “มองโกล”


นักรบชาวมองโกล

การมาของพวกมองโกลเหมือนไฟลามทุ่งที่เผาผลาญทำลายประชาชาติอื่นๆทั้งหมดสยบเอาไว้ใต้ลูกธนู และกีบม้า

ยุคนั้นชาวเชเชนต้องเฝ้ามองดูอาณาจักรออสเซเตียที่เคยเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเขาถูกทำลายลงอย่างง่ายดาย ดูอาณาจักรจอร์เจียซึ่งเคยเป็นผู้คุ้มครองเขามาหลายร้อยปีและอาณาจักรเพื่อนบ้านอื่นๆพินาศลงทีละอาณาจักร จนคล้ายกับว่าสรรพสิ่งที่เขารู้จักกำลังจะต้องสิ้นสุดลงโดยภูติผีปีศาจเอเชียกลุ่มนี้

...มันเหมือนกับวันล้างโลก...



แน่นอนว่าพวกมองโกลใช้กำลังเพียงเล็กน้อยก็ตีอาณาจักรเซิร์ดซักแตกอย่างง่ายดาย ประชากรเซิร์ดซักส่วนใหญ่ถูกเข่นฆ่าดังผักปลา พวกที่เหลือรอดต้องหลบหนีขึ้นไปอาศัยบนภูเขา ขาดน้ำ ขาดอาหาร เพราะมองโกลยึดครองลุ่มแม่น้ำซันซาซึ่งเคยใช้เพาะปลูกไปหมดแล้ว นอกจากนั้นกองทัพปีศาจจากเอเชียก็กำลังล้อมตีขึ้นมา มุ่งมาดปรารถนาจะกวาดล้างพวกเขาให้ไม่เหลือ

..ท่ามกลางสถานการณ์อันร้อนระอุนั้น ชาวเชเชนไม่เพียงสิ้นชาติเป็นครั้งแรก แต่กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากหน้าประวัติศาสตร์...

และก็เป็นช่วงเวลานั้นแหละที่พวกเขารวมกลุ่มกันใหม่ ต่างตัดสินใจแน่วแน่ว่าไม่ว่าอย่างไรจะต้องรอดจากมหันตภัยครั้งนี้ให้ได้!

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาขาดแคลนที่เพาะปลูก พวกเขาได้พัฒนาเทคโนโลยีการทำนาขั้นบันได และการฟื้นฟูดินเพื่อให้มีอาหารเพียงพอ นอกจากนั้นยังพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบใหม่ เรียกว่า “หอคอยไวแนค” ซึ่งใช้เป็นทั้งบ้าน, หอเตือนภัย, และป้อมในการรับมือการโจมตี


หอคอยไวแนค


มีหลายๆอันจะทำกำแพงเชื่อมกันเป็นป้อมได้

การสิ้นเซิร์ดซักทำให้ระบบชนชั้นซึ่งเคยมีมาก่อนสิ้นลงไปด้วย ชาวเชเชนที่จนที่รวยต่างรวมกันจัดระบบสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียม ประชาชาติของพวกเขาเปลี่ยนตัวเองเป็นกองทัพซึ่งสมาชิกทุกคนคือทหาร ต่างมีหน้าที่ขับเคลื่อนต่อต้านมองโกลด้วยทุกสิ่งทุกอย่างของตนจนลมหายใจสุดท้าย

ทัพมองโกลพิชิตมาได้ทั่วพิภพจบแดน พอมาเจอการจัดกองกำลังใหม่ของเผ่าเล็กๆอย่างเชเชนกลับต้องตึงมือ เพราะภูมิประเทศนั้นเป็นป่าเขาซึ่งทัพม้าไม่มีประโยชน์ ทั้งยังพบกับกองโจรที่มาตีปล้นและเคลื่อนที่หนีหายอย่างรวดเร็วท่ามกลางความมืด เป็นสถานการณ์ที่ปีศาจจากเอเชียไม่ถนัดเป็นอย่างยิ่ง

เชเชนใช้ยุทธวิธีเช่นนี้รักษาตัวรอดจากมองโกลได้ถึงสิบปีเศษ จนกระทั่งพวกมองโกลเกิดสงครามภายในเนื่องจากแม่ทัพมองโกลคนหนึ่งชื่อฮูลากูข่านไปทำลายอาณาจักรเปอร์เซียและอาหรับ กวาดล้างอารยธรรมอิสลามในแบกแดดจนล่มสลาย ทำให้แม่ทัพอีกคนชื่อเบิร์กข่านซึ่งก่อนหน้านี้เข้ารับศาสนาอิสลามไม่พอใจ


เบิร์กข่าน

ด้วยความเหม็นขี้หน้า เบิร์กข่านได้นำกองกำลังมองโกลส่วนของตนซึ่งมีชื่อว่า “ทัพทองคำ” หรือ โกลเดนฮอร์ด เข้าทำสงครามประหัตประหารกับฮูลากูข่าน สงครามครั้งนี้ร่วมกับสงครามกลางเมืองในที่อื่นๆซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เผ่ามองโกลขยายดินแดนออกไปมากเกินไปจนควบคุมกันไม่ได้ ทำให้อาณาจักรมองโกลอันกว้างใหญ่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ

ชาวเชเชนดีใจกับเรื่องนี้มาก... พวกเขาพากันเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายโกลเดนฮอร์ดทันทีเพราะคิดว่าช่วงที่พวกมองโกลกำลังวุ่นวายนี้ การรุกรานเผ่าอื่นย่อมต้องชะงักลง และถ้าพวกเขาสามารถพิสูจน์ตัวเองว่ามีประโยชน์ ก็จะสามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย

ช่วงนี้เองชาวเชเชนยังเปลี่ยนศาสนาประจำชาติเป็นอิสลามเพื่อเอาใจผู้ปกครองอีกด้วย (ตอนนั้นพวกโกลเดนฮอร์ดเหมือนจะเป็นมองโกลกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุด) แน่นอนว่าพวกเขายังคงนับถืออิสลามปนกับผีศาสนาเก่า เหมือนที่เคยนับถือศาสนาคริสต์ปนผีเมื่อสมัยสวามิภักดิ์จอร์เจีย

...การเปลี่ยนศาสนาไปเรื่อยๆเพื่อเอาตัวรอดนี้นับเป็นเรื่องน่าสงสาร...

...แต่สิ่งที่น่าสงสารยิ่งกว่านั้นคือการตัดสินใจของชาวเชเชนกลับกลายเป็นสิ่งผิด เพราะพอถึงศตวรรษที่สิบสี่พวกโกลเดนฮอร์ดก็เสื่อมอำนาจลง ถูกมองโกลอีกกลุ่มนำโดยติมูร์ข่านตีแตก


ติมูร์ข่าน

ติมูร์ข่านไม่พอใจแค่นั้น ยังตามมาเก็บกวาดเมืองขึ้นของพวกโกลเดนฮอร์ดต่อ ทำให้พวกเชเชนที่พึ่งจะได้ลงมาตั้งบ้านเรือนในดินแดนที่ราบไม่นานต้องถูกเข่นฆ่าเผาเมือง หนีกลับขึ้นเขาไปใหม่

บนภูเขาชาวเชเชนต้องเริ่มต้นตั้งหลักจัดระบบสังคมแบบกองทัพ ทำกองโจรหลบหนีตีโต้ผู้รุกรานอีกรอบ

พวกเขายังคงต่อสู้ต้านทานอย่างทรหดจนกระทั่งตัวติมูร์ข่านเองต้องรู้สึกประทับใจ

...ประวัติศาสตร์บันทึกว่า หลังจากการรบกับพวกเชเชนกลุ่มหนึ่งได้ ติมูร์ข่านถามแม่ทัพของเขาว่า “รบครั้งนี้ เจ้ายึดพอนดามาได้บ้างหรือไม่?” (พอนดาคือเครื่องดนตรีพื้นเมืองชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องสาย)


พอนดา

“ไม่ครับ” แม่ทัพตอบ “แต่เรารบชนะ...”

ติมูร์ข่านจึงว่า “เรารบชนะ แต่ไม่สามารถยึดเครื่องดนตรี ก็เหมือนกับการที่เราอาจทำลายชีวิตพวกเขา แต่ไม่อาจสยบจิตวิญญาณของพวกเขาได้จริงๆ”

ท่านข่านจึงชูดาบขึ้น “ชาวเชเชนได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามีความแข็งแกร่งทรหดยิ่ง เราเสียดายหากจะต้องฆ่าล้างพวกเขาจนหมด ...อย่ากระนั้นเลยเราจะมอบดาบของเราแก่ชาวเชเชนอย่างที่ไม่เคยมอบแก่ใครมาก่อน เพื่อแสดงความนับถือและเป็นมิตร เจ้าจงไปหานักรบชาวเชเชนที่หลงเหลืออยู่มาเพื่อรับมอบมัน”

แม่ทัพมองโกลจึงพาบริวารออกไปหานักรบเชเชนที่ยังเหลือรอด แต่ปรากฏว่านักรบทุกคนถูกฆ่าตายหมดแล้ว เมื่อแม่ทัพมองโกลขยายการเสาะหากว้างขึ้นก็จับได้ชายชื่ออิลลันชาผู้หลบอยู่ในหอคอยอันห่างไกลจากสมรภูมิมาได้

อิลลันชานี้เป็นนักเล่านิทาน เขาได้รับมอบหมายให้คอยสังเกตการณ์โดยห้ามร่วมรบ เพื่อให้มั่นใจว่าแม้จะต้องตายกันหมดก็ยังเหลือคนที่สามารถเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษเชเชนให้ลูกหลานฟังต่อไป

พอทหารพาอิลลันชามาพบติมูร์ ติมูร์จึงมอบดาบให้เป็นเครื่องหมายว่า ต่อไปนี้ชาวเชเชนได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างปลอดภัยภายใต้อาณาเขตของมองโกล ติมูร์ยังปล่อยทาสชาวเชเชนทั้งหมดให้ออกไปตั้งบ้านเรือนหากินอย่างอิสระ ทำให้เชเชนพ้นจากการสิ้นชาติ

อิลลันชามอบดาบของติมูร์ให้เป็นสมบัติของภรรยานักรบเก้าคนที่ตั้งครรภ์อยู่ หญิงเหล่านั้นจะได้มอบดาบให้แก่ลูกชายและลูกสาวทั้งเก้าของพวกเธอ และดาบนั้นยังคงได้รับการรักษาเป็นอย่างดีผ่านวันเวลาหลายร้อยปี

...เป็นเครื่องเตือนว่านี่คือ “ราคา” ของสันติภาพ ที่บรรพบุรุษของพวกเขาแลกมาด้วยเลือดและลมหายใจ...



การรุกรานของเติร์กและคอสแซค

ยุคสมัยของมองโกลเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายซึ่งนอกจากจะคร่าชีวิตชาวเชเชนไปมากกว่าครึ่ง พวกมองโกลยังเข้ายึดครองดินแดนอินกุชเอาไว้อีก

อย่างไรก็ตามยุคดังกล่าวก็เป็นช่วงเวลาที่ระบบสังคม และค่านิยมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเชเชนถูกสร้างขึ้น ชีวิตอันยากลำบากบนภูเขาซึ่งกดดันให้ทุกคนต้องช่วยเหลือกันเอาตัวรอดโดยไม่เกี่ยงชั้นวรรณะ และทำให้เชเชนสร้างระบบที่คล้ายประชาธิปไตยในปัจจุบันขึ้นมา โดยในระบบนี้สมาชิกในเผ่าหนึ่งๆมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนเผ่าซึ่งจะไปทำหน้าที่ร่วมกันในสภาหัวหน้าเผ่าซึ่งปกครองเชเชนทั้งหมด เชชเนียจึงนับเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยไม่กี่แห่งในยุคกลาง


สภาเผ่า

หลังยุคมองโกลผ่านพ้นไป ชาวเชเชนเริ่มลงจากเขามาตั้งบ้านเรือนบนลุ่มแม่น้ำซันชาและเทเรกที่เคยเป็นแหล่งเพาะปลูกของตน แต่พวกเขาต้องพบว่าชนเผ่าเติร์กจากดาเกสถาน (ประเทศทางตะวันออกของเชชเนีย) ได้มายึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเหล่านี้ไว้แล้ว ทำให้ต้องทำสงครามแย่งชิงต่อไปอีก

พวกเติร์กประสบความสำเร็จในการเข้ายึดครองอินกุชต่อจากมองโกล การที่ชาวอินกุชตกอยู่ใต้การปกครองของต่างชาติมานาน และไม่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยแบบเชเชน ทำให้สองประเทศแยกขาดจากกันอย่างถาวร


พวกเติร์กสืบเชื้อสายมาจากเผ่านอกกำแพงเมืองจีน ต่อมายกมายึดครองดินแดนตะวันออกกลางไว้ได้

ลุเข้าศตวรรษที่สิบแปดเมื่อศึกเติร์กสงบลงแล้ว ชาวเชเชนก็ต้องพบกับศัตรูคนใหม่ นั่นคือ “คอสแซค”

พวกคอสแซคเดิมเป็นคนเชื้อสายรัสเซีย อาศัยอยู่ในทั่วไปในยูเครนและรัสเซียใต้ ต่อมาดินแดนของพวกเขาถูกพวกมองโกลและเติร์กโจมตี เกิดการผสมผสานระหว่างชาวรัสเซียกับผู้รุกราน กลายเป็นเผ่านักรบเผ่าใหม่ซึ่งมีทั้งภูมิปัญญาของชาวรัสเซีย และฝีมือการขี่ม้ายิงธนูของชาวตะวันออก


คอสแซค

ครั้นมองโกลเสื่อมอำนาจลง จักรวรรดิโปแลนด์ได้เข้ามายึดครองยูเครนไว้และพยายามเปลี่ยนพวกคนพื้นเมืองลูกผสมรัสเซีย มองโกล เติร์ก ให้มีความศิวิไลซ์แบบชาวโปล

ความปรารถนาดีของโปแลนด์กลับถูกต่อต้านอย่างหนัก ในที่สุดพวกคนพื้นเมืองก็แยกตัวมาประกาศเอกราชสำเร็จ เรียกประชาชาติใหม่ของตนว่า “คอสแซค” นั้นมาจากคำว่า “กาซาค” ในภาษาเติร์ก แปลว่านักผจญภัยผู้รักอิสระ

พวกคอสแซคเป็นนักรบที่เก่งกาจ พวกเขาอยู่กันเป็นสังคมทหาร มีรายได้หลักจากการตีปล้นบ้านเมืองรอบๆ ครั้นพวกคอสแซคกล้าแข็งขึ้นก็ขยายอาณาเขตออกมารุกรานชาวเชเชน กลายเป็นศัตรูสำคัญ

ชาวเชเชนถูกพวกคอสแซคตีปล้นบ่อยๆเข้าก็สร้างกองโจรของตนเองออกไปตีปล้นพวกคอสแซคบ้าง

กองโจรพวกนี้มีชื่อว่า “อาเบร็ก” ภาษาเชเชนแปลว่า “ผู้แก้แค้น” (Avenger) คนชาติอื่นมองพวกนี้เป็นโจรภูเขาป่าเถื่อน แต่ชาวเชเชนมองอาเบร็กเป็นโจรคุณธรรมซึ่งคอยปกป้องคนดี (เชเชน) และปล้นคนเลว (อะไรที่ไม่ใช่เชเชน)


โจรอาเบร็ก

อาเบร็กที่มีชื่อเสียงที่สุดชื่อ “เซลิมคาน” เป็นวีรบุรษในตำนานเหมือนโรบินฮูดของอังกฤษ มีเพลงยกย่องเซลิมคานแปลเป็นภาษาอังกฤษดังนี้: (ท่านที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษไม่ต้องห่วง ผมแปลไทยเอาไว้ให้ด้วย)

When a storm break suddenly, they had slanging to run away, Zelimkhan!
When a weapon fires in the mountain, they had crouching down, Zelimkhan!
When a girl runs away from Stanits, they had saying Zelimkhan!
When a horse comes without his rider, they had crying Zelimkhan!
When his a thousand enemy waylayed, Zelimhan hadn’t hesitated
During years, he had resisted, never obeyed, Zelimkhan.
Dark night, dark yamchi (woolen), dark studhorse Zelimkhan!


คำแปลนะครับ:

เสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด เซลิมคาน!
เปรี้ยงปร้างสว่างไสวอันตรายไปทุกที่  เซลิมคาน!
พายุหมุนฝุ่นตลบกลบแผ่นดินทันที  เซลิมคาน!
มนุษย์สัตว์ตื่นตระหนกหนีกระจัดกระจาย  เซลิมคาน!


ภาพเซลิมคานกำลังลวนลามผู้หญิงชาวบ้าน

โอเค ผมมั่ว... แต่ทุกท่านยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่ามันควรจะแปลแบบนี้หรือเปล่าล่ะครับ?

หัวเราะ

การรุกรานของรัสเซีย

ศตวรรษที่ 16-18 เป็นช่วงเวลาของการชิงอำนาจระหว่างจักรวรรดิออตโตมาน (คือชาวเติร์กที่มาตีชิงดินแดนอาหรับได้เกือบหมด และเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามนิกายสุหนี่ตามอาหรับ ต่อมากลายเป็นประเทศตุรกี) กับจักวรรดิเปอร์เซีย (นับถือนิกายชีอะห์ ต่อมากลายเป็นประเทศอิหร่าน) ซึ่งจบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายทำอะไรกันไม่ได้มาก มีการเปลี่ยนแปลงหลักๆเพียงอย่างเดียวคือการที่อิหร่านทำให้ชาวอาเซอไบจันเปลี่ยนจากนับถือนิกายสุหนี่ไปนับถือนิกายชีอะห์จนปัจจุบัน

ชาวเชเชนต้องพยายามดำรงตัวให้รอดระหว่างการช่วงชิงอำนาจนี้ เขาเบื่อหน่ายการรุกรานขยายอิทธิพลของทั้งสองจักรวรรดิเต็มที และเริ่มหาทางเลือกใหม่โดยเข้าสวามิภักดิ์จักรวรรดิรัสเซียซึ่งกำลังเรืองอำนาจอยู่ทางเหนือ

เกิด “พรรคโปรรัสเซีย” ขึ้นในสภาของชาวเชเชน (ก่อนหน้านี้มีพรรคโปรตุรกี กับพรรคโปรอิหร่านอยู่แล้ว) ตอนแรกพรรคโปรรัสเซียก็เหมือนไปได้ดี แต่พอเกิดเหตุการณ์พวกคอสแซคเข้ามาปล้นบ่อยๆ ชาวเชเชนยุคนั้นแยกคอสแซคกับรัสเซียไม่ออกก็หันไปนิยมพรรคโปรตุรกีมากขึ้น

ในที่สุดพรรคโปรตุรกีก็สามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ดำเนินการกราบไหว้บูชาสวามิภักดิ์ตุรกีสุดๆ ถึงกับเรียกประเทศตัวเองว่าอิชเคเรียตามตุรกี (อิชเคเรียซึ่งเป็นชื่อเชชเนียในภาษาเติร์ก) เพื่อหวังว่าวันใดรัสเซียหรืออิหร่านมาโจมตี ตอนนั้นตุรกีจะเข้ามาปกป้อง


เจ้านายออตโตมาน

อนิจจา... นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิด ตุรกีถูกเลียมากๆก็ใช่จะชอบ เพราะยังรังเกียจที่เชเชนนับถืออิสลามปนผี ไม่ใช่สุหนี่แท้ แม้ภายหลังเชเชนจะพยายามทำตัวเป็นสุหนี่มากขึ้นแค่ไหน ตุรกีก็ยังมองว่าเป็นแค่ “อิสลามใหม่” ต้องจัด Priority การดูแลอยู่ท้ายๆอิสลามเก่า

อีกทางหนึ่งจักรวรรดิรัสเซียพึ่งรบชนะนโปเลียน กำลังเข้มแข็งลำพองเต็มที่ จึงแผ่ขยายอาณาเขตมาทางเทือกเขาคอเคซัสโดยทำสัญญารับจอร์เจียมาเป็นรัฐบริวาร อีกทางหนึ่งก็เจรจาว่าจ้างให้ทหารคอสแซคทำการต่อสู้กับพวกเติร์ก พิทักษ์ชายแดนทางใต้

เวลานั้นเชชเนียเปรียบเหมือนก้างชิ้นเล็กๆที่ขวางการจราจรระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียซึ่งเป็นบริวารใหม่ รัสเซียเห็นการที่พรรคโปรรัสเซียแพ้ให้พรรคโปรตุรกีก็ดีแล้ว จะได้จัดการได้อย่างสะดวกใจ จึงส่งกองทหารใหญ่เข้ามาตีเชชเนีย

ชาวเชเชนถูกตีหนีขึ้นเขาไปเป็นคำรบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้แล้ว พวกเขาพยายามส่งสารขอความช่วยเหลือไปยังตุรกี แต่ตุรกีให้ Priority เชชเนียต่ำเลยไม่ได้ช่วย ปล่อยให้ชาวเชเชนรับมือกับหายนะเอง

ครั้งนั้นรัสเซียไม่ได้ตีแค่เชชเนียประเทศเดียว แต่ตีรัฐต่างๆบนเทือกเขาคอเคซัสทั้งหมด ในรัฐดาเกสถานซึ่งถูกตีเหมือนกันนั้นเกิดมีผู้นำเข้มแข็งชื่อ อิหม่ามชามิลได้รวบรวมชาวคอเคซัสที่นับถืออิสลามเข้าสู้รบกับรัสเซีย เชเชนเห็นดังนั้นก็เข้าสวามิภักดิ์กับอิหม่ามชามิลทันที


อิหม่ามชามิล

อนิจจา... นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดอีกแล้ว ชามิลรังเกียจว่าเชเชนเป็นอิสลามปนผี ก็บังคับให้เปลี่ยนจากระบบประชาธิปไตยมาเป็นอิหม่ามธิปไตย นอกจากนั้นยังกดขี่ชาวเชเชนเป็นประชากรชั้นสอง รองจากชาติดาเกสถานของอิหม่าม

แม่ทัพรัสเซียที่นำสงครามคอเคซัสนั้นชื่อ อเล็กเซย์ เยอโมรอฟ เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการเอาชนะนโปเลียน เขาเกลียดชาวเชเชนเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าเป็นพวกกองโจรขี้ขลาด สู้ตรงๆไม่เป็น เลยใช้กลยุทธง่ายๆที่เรียกว่า “ฆ่าล้างโคตร”

นั่นคือตีได้เมืองไหนก็จับฆ่าหมดทั้งคนแก่ ผู้หญิง ทารก เอาไม่ให้เชเชนเหลือรอดอยู่ในโลกแม้แต่คนเดียว!

ประมาณกันว่าเริ่มสงครามมีชาวเชเชนในเชชเนียราว 1.5 ล้านคน พอสิ้นสงครามเหลือชาวเชเชนอยู่เพียงหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหกพันคน

นั่นคือกว่า 90% ของชาวเชเชนล้มหายตายจากไปในการฆ่าล้างครั้งนี้!


นายพลอเล็กเซย์ เยอโมรอฟ

อิหม่ามชามิลเห็นชะตากรรมของเชเชนก็เกิดอาการที่เรียกว่า “หนาวขี้” เขาทำกองโจรกับรัสเซียได้อีกพักหนึ่ง พอรัสเซียเสนอให้ยอมแพ้แลกกับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ก็ยอมแพ้โดยง่าย

หลังจากนั้นรัสเซียก็เอาตัวอิหม่ามชามิลไปเลี้ยงดูอย่างดีจริงๆ ให้อยู่บ้านหรูหรามีคนรับใช้มากมาย จนอิหม่ามฟิน ออกประกาศให้กบฏทั้งหมดเลิกสู้เพราะตูฟินแล้ว

ความฟินของเขาเห็นได้จากจดหมายที่เขาเขียนให้ลูกชายครั้งหนึ่ง มีเนื้อความว่า:

“ด้วยพระประสงค์ขององค์อัลเลาะห์เป็นเจ้า แม้ว่าพ่อจะตกอยู่ใต้เงื้อมมือของพวกนอกศาสนา แต่พวกเขาก็ช่างใจกว้างเลี้ยงพ่อดีมาก พ่อเอ็นจอยจุงเบยนะลูกนะ จุ๊บๆ...”

จากนั้นชามิลก็ใช้ชีวิตอย่างกิ๊บเก๋ยูเรก้าอยู่ในรัสเซีย ทั้งยังได้รับอนุญาตให้ไปแสวงบุญตามสถานที่สำคัญของอิสลามอย่างอิสระ กลายเป็นแขกสำคัญของอาณาจักรอิสลามต่างๆ และแก่ตายไปเอง


ป้ายรำลึกอิหม่ามชามิลที่รัสเซียทำให้ด้วยความอาลัย ณ จุดที่เคยเป็นบ้านพักของเขา

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ชาวเชเชนเกลียดอิหม่ามชามิลน้อยกว่ารัสเซียเพียงนิดเดียวเท่านั้น...

การรุกรานของอะไรมั่วๆ

หลังจากยึดครองเชชเนียได้แล้ว และพวกคอสแซคเข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าซาร์ของรัสเซียโดยสมบูรณ์ รัสเซียจึงดำเนินการกดขี่ข่มเหงชาวเชเชนอย่างสนุกมือ

...เริ่มจากให้รางวัลความภักดีของพวกคอสแซคเป็นที่ดินดีๆในดินแดนเชชเนีย (ไล่ชาวเจ้าของเดิมออกไปแล้ว) หรือกดชาวเชเชนลงเป็นประชากรชั้นสอง ถ้ามีการลงโทษพิพากษา ชาวรัสเซียกับคอสแซคจะถูกตัดสินในศาลพลเรือนอย่างยุติธรรม ส่วนชาวเชเชนจะถูกตัดสินใจศาลทหาร ซึ่งมักจะให้บทลงโทษที่โหดๆ เช่นขโมยอาหารเล็กน้อยก็ประหารเลย


พระเจ้าซาร์

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะชาวเชเชนมักถูกมองเป็นพวก “ป่าเถื่อน” หรือ “มีศีลธรรมต่ำ” จึงจำเป็นต้องได้รับการขัดเกลาจากชาวรัสเซีย “ที่มีศีลธรรมสูงกว่า”

โดยปกติชาวเชเชนเห็นใครมีอำนาจมากก็สวามิภักดิ์ได้ไม่ยาก แต่กับรัสเซียที่มาเข่นฆ่าขับไล่คนไปกว่า 90% ซ้ำยังกดขี่ข่มเหงอีกนั้น มันทำใจสวามิภักดิ์ไม่ลงจริงๆ พวกเขาจึงพยายามก่อกบฏอีกหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ถูกรัสเซียบี้เอาง่ายๆ ทุกครั้งได้เพิ่มความเกลียดชังระหว่างรัสเซียกับเชเชนให้เกลียดกันเข้ากระดูกดำมากขึ้นไปอีก

เรื่องราวไม่ได้แย่ไปทั้งหมด ปี 1893 มีการพบบ่อน้ำมันใหญ่ที่ใกล้ๆกรุงกรอสนีเมืองหลวงของเชชเนีย ทำให้รัสเซียให้ความสนใจดินแดนนี้มากขึ้น มีการต่อรางรถไฟเอาความเจริญเข้ามา สร้างงานสร้างรายได้ ทำให้ชาวเชเชนบางส่วนมีฐานะร่ำรวยขึ้นมาบ้าง

ต่อมาไม่นานรัสเซียเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายนิยมเจ้า กับพรรคคอมมิวนิสต์บอลเชวิก


เลนิน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัสเซีย เป็นคอมมิวนิสต์

การแก่งแย่งชิงดีทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ เหตุการณ์ต่อไปนี้ค่อนข้างยุ่งเหยิงมากจนผมไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือเปล่านะครับ ผมจะค่อยๆอธิบายดังนี้...

:::

เริ่มจากปี 1917 พรรคบอลเชวิกล้มล้างพระเจ้าซาร์สำเร็จ

:::

ปีเดียวกันฝ่ายเชเชนเกิดมีคนเก่งชื่อนายทาปา เชอโมเอฟ เขาเห็นเวลานั้นรัสเซียกำลังเสื่อมอำนาจเลยรวบรวมผู้คนประกาศเอกราช ตั้งชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐแห่งเทือกเขาคอเคซัสเหนือ”


ทาปา

:::

กองกำลังบอลเชวิกมายึคกรอสนีเมืองหลวงของเชชเนียไว้ได้

:::

เชเชนไปเจรจากับพวกคอสแซคบอกว่า “เฮ้ย ตอนนี้บ้านเมืองก็กำลังวุ่นวาย พวกคอมมิวนิสต์ก็ใช่จะไว้ใจไว้ อย่ากระนั้นเลย เรามาเป็นพันธมิตรกันเพื่อปกป้องประชาชนชาวคอเคซัสจากพวกมันกันเถอะ”

พวกคอสแซคเกลียดกับเชเชนมาหลายร้อยปี แต่ก็เคยได้รับการชุบเลี้ยงจากพระเจ้าซาร์มานานเช่นกัน พอเห็นคอมมิวนิสต์ล้มล้างพระเจ้าซาร์เช่นนี้ คอสแซคจึงตัดสินใจร่วมมือกับเชเชนต่อต้านบอลเชวิก ทั้งสองฝ่ายช่วยกันขับไล่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ออกไปจากดินแดนคอเคซัสได้ชั่วคราว

:::

จากนั้นทางดาเกสถานมีพรรคพวกของอิหม่ามชามิลที่เหลืออยู่คิดขึ้นได้ว่า “ตอนนี้อิหม่ามตายไปแล้ว พวกเราหายฟินแล้ว มาประกาศตัวเป็นเอกราชดีกว่า ฮูเร!” ว่าแล้วก็ตั้งรัฐอิสลามในดาเกสถานขึ้นมาใหม่


พวกดาเกสถานต้องพึ่งกำลังจากเชเชน แต่ขณะเดียวกันก็รังเกียจที่ชาวเชเชนไม่เคร่งอิสลามเท่าพวกตน

:::

พวกดาเกสถานบอกเชเชนว่า “ไอ้พวกอิสลามปนผี แกจงเลิกเป็นประชาธิปไตย แล้วหันมาเป็นอิหม่ามธิปไตยต่อซะดีๆ!”

เชเชนตอบว่า “...เอ็งจะบ้าเหรอ?”

พวกดาเกสถานไม่มีแรงไปตีเชเชนเหมือนก่อนเลยพองขนแฮ่ใส่พอเป็นพิธี แล้วเลื่อนออกไปทางฉากหลังเงียบๆ

:::

พรรคบอลเชวิกเข้ามาโฆษณาให้พวกคอสแซคฟังว่า “พวกเชเชนมันเป็นชนชั้นนายทุนที่กดขี่กรรมาชีพคอสแซคอยู่ เรามาร่วมมือกันกำจัดพวกมันกันเถอะ”

พวกคอสแซคฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าชาวเชเชนที่โดยเฉลี่ยแล้วซุปเปอร์จนนั้นเคยเป็นนายทุนตอนไหน ส่วนพวกตัวเองที่เป็นทหารรับจ้างนั้นเคยเป็นกรรมาชีพตอนไหน แต่ที่แน่ๆคือเราเกลียดเชเชนมานานแล้ว ทางพระเจ้าซาร์ท่าทางไม่น่าจะฟื้นได้ ดังนั้นเอาก็เอาวะ ช่วยบอลเชวิกตีเชชเนียก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากัน

:::

เหตุการณ์พลิกผัน ฝ่ายนิยมเจ้ารัสเซียรวมกำลังกันขึ้นมาได้นำโดยนายพลเดนิกิน นายพลเดนิกินมาโฆษณาให้พวกคอสแซคฟังว่า “นี่ตอนนี้เรามีความหวังจะฟื้นระบบซาร์ พวกเจ้าลืมบุญคุณที่ซาร์เคยชุบเลี้ยงแล้วหรือไร?”

คอสแซคถามว่า “ร่วมกับท่านแล้วยังตีเชชเนียได้หรือเปล่า?”

นายพลเดนิกินตอบว่า “ได้”

จริงๆพวกคอสแซคก็ไม่เคยชอบคอมมิวนิสต์อยู่แล้วเลยเข้าร่วมกับกองทัพนายพลเดนิกิน แล้วก็ตีเชชเนียต่อให้ชาวเชเชนเดือดร้อนเล่น


นายพลเดนิกินผู้มีหนวดสวยมาก

:::

พวกบอลเชวิกได้มาโฆษณากับชาวเชเชนว่า “มาร่วมกับเราสิ แล้วท่านจะได้รับสังคมในอุดมคติที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค อยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่แบ่งชั้นวรรณะ”

คำโฆษณานี้ดึงดูดใจชาวเชเชน เพราะความเสมอภาคของคอมมิวนิสต์นั้นใกล้เคียงกับระบบประชาธิปไตยที่พวกเขาเคยใช้ (จริงๆแล้วอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยมีความใกล้เคียงกันนะครับ คอมมิวนิสต์จะขัดแย้งกับทุนนิยมมากกว่า)

แต่ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ยังไม่จิ๊ดพอ เชเชนเลยถามบอลเชวิกว่า “นอกจากเรื่องพวกนี้แล้วมีอะไรมาโฆษณาเราอีกไหม”

บอลเชวิกนิ่งคิดสักครู่จึงตอบว่า “งั้นพูดแบบนี้ดีกว่า... พวกเราชาวกรรมาชีพเชเชน มาร่วมกันไปตีพวกชนชั้นนายทุนคอสแซคกันเถอะ!”

เชเชนก็ไม่รู้ว่าคอสแซคซึ่งจนน้อยกว่าตัวเองนิดเดียวนั้นเคยเป็นนายทุนตอนไหน แต่เอาก็เอาวะเกลียดคอสแซคอยู่ พวกเขาเลย ฮูเร! เข้าร่วมกับบอลเชวิกด้วย


คอสแซครบเชเชน

:::

เกิดพรรคคอมมิวนิสต์เชเชนแยกตัวออกจากรัฐบาลนายทาปา มีชาวเชเชนละทิ้งศาสนาอิสลามมานับถือลัทธิคอมมิวนิสต์กันมากมาย (ก็ไม่รู้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ปนผีหรือเปล่า) รัฐบาลนายทาปาคุมไม่อยู่ในที่สุดก็ถูกบอลเชวิกและประชาชนตัวเองโค่นล้ม

:::

อิหม่ามคนใหม่ที่ดาเกสถานฟินอยู่ไม่นานก็ถูกบอลเชวิกบี้ตายตามนายทาปาไป

:::

บอลเชวิกหันมาตีพวกคอสแซคและนายพลเดนิกินเต็มที่ ในที่สุดก็บี้คอสแซคตายตามทุกๆคนไป

ในลักษณะนี้แผ่นดินคอเคซัสเป็นที่เคยแตกแยกวุ่นวายมาช้านาน ก็ถูกรวบรวมโดยบอลเชวิก บ้านเมืองสิ้นศึก เป็นสุข

*คำเตือน: คอมมิวนิสต์เป็นยาระบายอ่อนๆ โปรดอ่านคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ยา



การรุกรานของนาซี

ครั้นรัสเซียจัดการเรื่องราวภายในเสร็จ ลุถึงปี 1940 บรรยากาศโลกก็เริ่มอุ่นระอุด้วยเค้าลางของสงครามใหญ่

เกิดเหตุรัสเซียรบฟินแลนด์ ไม่แพ้ไม่ชนะ แต่ฝ่ายรัสเซียสูญเสียอย่างหนักเป็นสัญญาณให้บรรดารัฐบริวารเสื่อมความนับถือ

ชาวเชเชนไม่เคยชอบรัสเซียอยู่แล้ว พอมีลางว่ารัสเซียจะอ่อนแอลงก็เกิดกบฏนำโดยนายคาซาน อิสราอิลอฟทำกองโจร ปล้นตีฝ่ายรัฐบาลอยู่เนืองๆ ความอ่อนแอของรัสเซียจากการรับศึกหลายด้าน ทำให้กองโจรของอิสราอิลอฟยึดได้พื้นที่จำนวนไม่น้อยในดินแดนเทือกเขาคอเคซัส


นายคาซาน อิสราอิลอฟ เดิมเป็นนักเขียนและกวี เคยเป็นเยาวชนคอมมิวนิสต์ ต่อมาไม่พอใจที่โซเวียตกดขี่ชาวเชเชนเลยหันมาจับอาวุธสู้

ไม่ทันที่รัฐบาลโซเวียตจะปราบปรามอย่างไร สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้น ในระยะแรกของสงครามทัพเยอรมันใช้ความเหนือกว่าตีรัสเซียแตกทุกแนวรบ ทหารรัสเซียต้องถอยหนีเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อวัน ไม่นานเยอรมันก็บุกเข้ามาถึงดินแดนเทือกเขาคอเคซัส

ตอนนั้นพวกเยอรมันเห็นเชชเนียแตกแยกเป็นกองโจรก็หวังใช้ประโยชน์ จึงทำการเจรจากับอิสราอิลอฟและให้ความช่วยเหลือทางการรบหลายครั้ง

จริงๆมีหลักฐานหลายอย่างระบุว่าอิสราอิลอฟไม่ได้ชอบฮิตเล่อร์นัก แต่ดังคำโบราณ “ศัตรู ของ ศัตรู = มิตร” ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันชั่วคราวแบบหลวมๆ ในที่สุดพันธมิตรเยอรมันกับกองโจรเชเชนก็ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันขับไล่รัสเซียออกจากดินแดนคอเคซัสได้เกือบหมด


นาซี

ในจำนวนทหารชาวเชเชนที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพรัสเซีย 40,000 คน มีพวกที่เห็นฝ่ายอิสราอิลอฟเข้มแข็งขึ้นก็หนีทัพไปอยู่กับกองโจรมากมาย แต่ก็ยังมีพวกที่รบอย่างกล้าหาญเพื่อฝ่ายรัสเซียอีกมาก ดังปรากฏว่ามีทหารเชเชนได้รับเหรียญกล้าหาญ “วีรบุรุษแห่งโซเวียต” ถึงห้าสิบคน

ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังนะครับ...

ในปี 1941 เมื่อเยอรมันบุกตีเมืองเบรสท์ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีทหารโซเวียตเกือบหมื่นคนทำการป้องกันอย่างแข็งขัน ในจำนวนนั้น 500 คนเป็นทหารชาวเชเชนและอินกุช

การรบเป็นไปอย่างดุเดือด เยอรมันทุ่มเทบุกอย่างหนัก ฝ่ายโซเวียตก็ไม่ยอมแพ้ มีคนบาดเจ็บล้มตายหลายพันคน


ป้อมเมืองเบรสท์

ในที่สุดป้อมก็แตก ตอนนั้นนายทหารชาวลิทัวเนียที่อยู่ฝ่ายอักษะชื่อแสตนคุส แอนทานัส (ผู้บันทึกเรื่องที่เราอ่านส่วนนี้) ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเก็บกวาดศัตรูที่เหลืออยู่ในป้อมให้หมด เขาจึงนำคนเข้าไปตรวจดูจนแน่นใจว่าป้อมไม่เหลือใครอยู่แล้ว และเตรียมตัวจัดขบวนแถวฉลองชัยชนะ

ตอนนั้นเองพวกเขาต้องตกใจเมื่อพบว่ามีทหารคนหนึ่งปีนขึ้นมาจากบังเกอร์ใต้ดิน

ทหารคนนั้นใส่เครื่องแบบทหารโซเวียตที่ขาดวิ่น ตาของเขาบอด แขนขวาก็บาดเจ็บ ต้องใช้สายคล้องปืนพยุงไว้ เขาเชิดหน้าขึ้นสูง เดินกระโผลกกระเผลกเข้าหาทหารเยอรมัน แล้วหยุดนิ่งอยู่

นายทหารเยอรมันคนหนึ่งประทับใจในความทรหดของศัตรูที่สู้จนบาดเจ็บหนักขนาดนี้โดยยังไม่ยอมแพ้ จึงชูมือทำความเคารพเขา ทหารทั้งกองก็ชูมือเปล่งเสียงแสดงความเคารพตามดังกึกก้อง

ทหารโซเวียตคนนั้นนิ่งอีกสักครู่ ก็ชักปืนขึ้นมาจ่อศีรษะยิงตัวตาย สร้างความตกตะลึง และความนับถือแก่ทหารเยอรมันโดยรอบ

ต่อมาศพของนายทหารโซเวียตที่ยอมตายไม่ยอมแพ้คนนั้นถูกพิสูจน์ว่าชื่อบาคานอเยฟ เป็นทหารจากกองเชเชนอินกุชนั่นเอง...


ทหารรัสเซีย

การลงโทษของสตาลิน

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องการรุกรานรัสเซียของนาซีซึ่งถูกหยุดยั้งไว้ได้ที่เมืองสตาลินกราด

ระหว่างปี 1942-1943 ทั้งสองฝ่ายรบชิงเมืองนี้กันอย่างดุเดือด ศึกเดียวมีคนบาดเจ็บล้มตายเกือบสองล้านคน นับเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่นองเลือดที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง


ทหารรัสเซียชูธงแดงในการรบที่สตาลินกราด

ตอนท้ายรัสเซียใช้การส่งกำลังบำรุงที่ทำง่ายกว่า และกองทัพมดเข้าบี้เยอรมันอย่างไม่กลัวสิ้นเปลือง เป็นเหตุให้รบชนะ แต่นั้นสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป

...เพราะ Zeon is Exhausted! ฝ่ายอักษะไม่สามารถหากำลังพลมาทดแทนส่วนที่เสียไปได้ทัน ถูกตีจากทุกทิศทางก็แตกยับในที่สุด


ทหารรัสเซียอุ้มหัวรูปปั้นฮิตเล่อร์หลังจากรบชนะ

ผู้นำรัสเซียในยุคนั้นมีชื่อว่านายโจเซฟ สตาลิน (ชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเมืองสตาลินกราดนั่นแหละ) เขามีความเห็นว่าพวกเชเชนนี้เลี้ยงไม่เชื่อง มักจะตั้งกองโจรมารบกวนอยู่ร่ำไป และการรบกวนของเชเชนอาจกระทบต่อแผนการแผ่ขยายอำนาจลงครอบงำตุรกีกับอิหร่านที่เขาวางไว้


สตาลินดูยังไงก็หน้าเหมือนคุณลุงใจดี ...แต่

เขาจึงคิดขึ้นว่า “ถ้าลบพวกนี้ออกไปจากแผนที่อย่างถาวรก็คงดีสินะ...”
สตาลินเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมา “แล้วถ้าเราหาเรื่องลงโทษที่พวกมันร่วมมือกับทหารเยอรมัน แล้วย้ายพวกมันออกจากประเทศไปทั้งหมดล่ะ?”

มีคนทัดทานว่า “ท่านครับ การลงโทษคนทั้งประเทศนั้นทำได้ด้วยเหรือ?”

“Yes we can!” สตาลินชูสโลแกนของโอบามา

ความจงรักภักดีของทหารเชเชนหลายคนไม่อาจสะกิดต่อมสำนึกของทรราชย์โคตรโหดอย่างสตาลินได้
ปี 1944 ยังไม่ทันที่สงครามโลกจะจบ ทหารรัสเซียเข้าตีกองโจรอิสราอิลอฟแตก จับอิสราอิลอฟฆ่า แล้วเลยไปจับกุมชาวเชเชนอินกุช และชนเผ่าโดยรอบ ทั้งประเทศ ยัดใส่รถไฟ รถบรรทุก ขนไปปล่อยที่ไซบีเรีย ซึ่งเป็นดินแดนแห้งแล้ง รกร้าง หนาวเหน็บ เวลารัสเซียอยากลงโทษใครมักจะเอามาปล่อยที่นี่

...ส่วนดินแดนเชชเนียที่ว่างอยู่นั้นก็ให้ชาวรัสเซีย กับออสเซเตียที่สวามิภักดิ์มาจับจองตั้งบ้านเรือนตามสบาย...

เรื่องน่าเศร้าคือกองทหารเชเชนที่รบอยู่แนวหน้าในตอนนั้นก็ยังคงสู้อย่างกล้าหาญโดยไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านตัวเอง


ชาวเชเชนที่อพยพไปไซบีเรียส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เพราะผู้ชายนั้นไปรบกันอยู่แนวหน้า


การจับชาวเชเชนขึ้นรถไฟขนวัว


ทหารรัสเซียได้สังหารชาวเชเชนที่ไม่ยอมย้ายไปมากมาย

มีการพบศพของทหารเชเชนคนหนึ่งแทรกซึมเข้าไปในแดนข้าศึกแล้วถูกนาซียิงตาย ในกระเป๋าเขามีจดหมายเขียนถึงครอบครัว เพื่อนชาวรัสเซียมีความสังเวช พอสิ้นสงครามก็จะเอาจดหมายไปส่งให้แม่เขาที่บ้าน เพื่อให้ภูมิใจว่ามีลูกเป็นวีรบุรุษ

...อนิจจาพอจดหมายถูกส่งไปจริงๆ คนส่งกลับต้องพบว่า ไม่มีบ้านของทหารคนนั้นเหลืออยู่แล้ว หายไปหมดทั้งหมู่บ้าน ทั้งเมือง แผนที่ตีพิมพ์ใหม่ก็ไม่มีเมืองนี้ แม่ของทหารคนนั้นเป็นอย่างไรบ้างไม่รู้...

...ประมาณกันว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเชเชนหนาวตายอยู่ที่ไซบีเรีย...

นอกจากย้ายคนทั้งประเทศ สตาลินยังสั่งให้ทำลายห้องสมุด เผาหนังสือทั่วเชชเนียให้ไม่มีประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ บันทึกภูมิปัญญาอันล้ำค่า ตำราเก่าแก่แทบทั้งหมดของเชเชนถูกทำลายลง พวกสมบัติสำคัญของชาติรวมถึงดาบของติมูร์ข่านที่เก็บรักษามาได้ ก็ถูกทำลายหรือขนไปรัสเซียในคราวเดียวกัน

...ประวัติศาสตร์เชเชนที่ท่านอ่านมาทั้งหมดจนถึงตรงนี้มาจากบันทึกของชนเผ่าอื่นนะครับ...

จริงๆสตาลินยังทำอะไรอย่างนี้อีกมาก... ฮิตเล่อร์อาจจะฆ่ายิวไป 6 ล้านคนก็จริง แต่มีคนล้มตายเพราะระบบของสตาลินถึง 20-30 ล้านคน เล่นเอาฮิตเล่อร์เรียกพี่เลย

แต่เพราะรัสเซียเป็นฝ่ายชนะสงคราม ดังนั้นทำอะไรไว้ก็กลบๆปิดๆได้ ไม่ค่อยมีคนพูดถึง

...จริงๆสตาลินอาจจะสำนึกบางอย่างอยู่ลึกๆ...

ในปี 1949 ขณะที่ชาวเชเชนยังหนาวตายอยู่ในไซบีเรียอยู่ รัฐบาลโซเวียตได้สร้างรูปปั้นของนายพลเยอโมลอฟ ผู้นำการรุกรานเชชเนียสมัยพระเจ้าซาร์ขึ้นในกรุงกรอสนี และแกะตัวอักษรใต้รูปปั้นนั้นว่า

“ใต้ดวงอาทิตย์อันกว้างใหญ่ คนที่เลวกว่านี้ ...ไม่มี”

ผมแปลให้นะครับ สตาลินจะบอกว่า:

“ใต้ดวงอาทิตย์อันกว้างใหญ่ คนที่เลวกว่ากู ...ก็ยังพอมี...”

คำกล่าวอ้างนั้นยังเป็นที่สงสัยกันอยู่จนปัจจุบัน


รูปปั้นนายพลเยอมาลอฟที่เมืองสตาวโรโปล ปัจจุบันรูปที่กรอสนีถูกทำลายไปแล้ว

ครับ... นั่นคือประวัติศาสตร์ของชาวเชเชนก่อนที่จะเกิดสงครามเชชเนียในยุคร่วมสมัยของเรา

ผู้รุกรานชาติอื่นมักจึงปฏิบัติต่อชาวเชเชนอย่างโหดร้าย เพราะรังเกียจว่าเป็นกองโจรที่ดื้อด้านปราบยาก นอกจากนั้นยังกลับกลอก หาความภักดีมิได้ เดี๋ยวเป็นอิสลาม เดี๋ยวเป็นคริสต์ เดี๋ยวเป็นผี เดี๋ยวเป็นคอมมิวนิสต์ เดี๋ยวเป็นประชาธิปไตย

จริงๆผมสรุปให้ได้นะครับว่าเชเชนเป็นอะไร

เชเชนเป็นสิ่งที่เรียกว่า...

"เมิงอยากให้กูเป็นอะไรก็เป็น ...กูกลัวแล้ว..."

พวกเขาเหมือนหญ้าแพรกที่ขึ้นอยู่ท่ามกลางลานต่อสู้ของมหาพญายักษ์แปดหมื่นสี่พันตัว มีแต่ถูกเหยียบย่ำป่นปี้ เพียงแค่การเหลือรอดอยู่ก็นับเป็นปาฏิหาริย์

ตลอดเวลาหลายพันปี มีผู้รุกรานที่เข้มแข็งมาปล้นตีทำลายเชชเนียนับครั้งไม่ถ้วน ชาวเชเชนล้มตายจนไร้กำลังที่จะเรียกร้องสิทธิให้ตนเอง เชชเนียถูกแบ่งเฉือนจนเหลือเล็กลงไปเรื่อยๆ

เราเรียกชนชาติยิวซึ่งต้องทนทุกข์ยากมาตลอดว่าเป็นชาติต้องสาป เราเรียกแผ่นดินปาเลสไตน์ที่มีปัญหาแย่งชิงบ่อยๆว่าเหมือนถูกสาป

แต่ถ้าแบบนั้นคือถูกสาปแล้ว เราจะเรียกชะตากรรมของชาวเชเชนว่าอะไรดี?



...ในตอนหน้า ท่านจะได้เห็นการกลับมาของชาวเชเชน...



ท่านจะได้เห็นสงครามที่ดุเดือด...



ท่านจะได้เห็นการขึ้นสู่อำนาจของผู้ที่เปลี่ยนแปลงรัสเซีย...



ท่านจะได้เห็นเรื่องของเชชเนียที่ลุกลามใหญ่โตจนมีผลกระทบต่อทั้งโลก...



...ท่านอาจเคยได้ยินข่าว...

...ท่านอาจพอทราบว่าในตอนต่อๆไปท่านจะได้เห็นความเลวของกองโจรเชเชนอีกมาก...

ผมไม่ได้หวังว่าการปูพื้นประวัติศาตร์ในตอนนี้จะทำให้ท่านเห็นพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายน้อยลง

...ผมเพียงหวังว่ามันจะทำให้ท่านเห็นด้านที่เป็นมนุษย์ของเขามากขึ้นเท่านั้น...



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : pantip.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น