วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ตากสินมหาราช มหากษัตริย์ยอดนักรบ


"ตากสินมหาราช มหากษัตริย์ยอดนักรบ"
วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกหนึ่งวัน เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว

๏อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก

ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา

แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี

สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม

เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม

ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า

ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา

พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน ฯ

๏ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน" พระบิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว นามว่า "นายไหฮอง แซ่แต้" พระมารดา เป็นหญิงไทยนามว่า "นกเอี้ยง" สันนิษฐานว่า ถิ่นกำเนิดของพระองค์น่าจะอยู่แถบภาคกลาง ในกรุงศรีอยุธยา มากกว่าเมืองตาก

ในวัยเยาว์ พระยาจักรีได้รับเด็กชายสินเป็นบุตรบุญธรรม และนำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) ทรงศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน จากนั้นเมื่อเล่าเรียนจบ พระยาจักรีได้พาเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยความเฉลียวฉลาด รอบรู้ และพูดได้ถึง 3 ภาษา พระองค์จึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง

กระทั่งปี พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร ขึ้นครองราชย์ต่อได้เพียง 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ นายสินมหาดเล็กสร้างผลงานได้รับความดีความชอบ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสินมหาดเล็กรายงานเป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก จนกระทั่งพระยาตากถึงแก่กรรม หลวงยกบัตรเมืองตากจึงได้เลื่อนเป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากสืบต่อไป

ครั้นเมื่อพม่ายกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาทางตอนใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2307 โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ พระยาตากยกทัพไปช่วยรักษาเมืองเพชรบุรี และตีทัพพม่ากลับไปอย่างง่ายดาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2308 พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระยาตากก็สามารถช่วยรักษาพระนครไว้ได้อีก ความดีความชอบนี้ ทำให้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาตากเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันที่พระยาวชิรปราการจะได้ครองเมืองกำแพงเพชร พม่าก็ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระยาวชิรปราการจึงต้องเข้ากรุงศรีอยุธยา เพื่อป้องกันพระนคร

ระหว่างทำการสู้รบอยู่นั้น พระยาวชิรปราการเกิดท้อแท้ใจที่แม้จะตีค่ายพม่าได้ แต่พระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน จนทำให้พม่ายึดค่ายกลับคืนได้ อีกทั้งยังเห็นว่า ทัพพม่ามีกำลังมากกว่า หากออกไปรบคงพ่ายแพ้อย่างหมดทางสู้ และตนเองยังถูกภาคทัณฑ์ที่ยิงปืนใหญ่ใส่ทัพพม่าโดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุนขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระยาวชิรปราการจึงเห็นว่า คงไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ป้องกันพระนคร และเชื่อว่า กรุงศรีอยุธยาคงจะต้องเสียกรุงเสียครานี้ เพราะผู้นำอ่อนแอ ไม่สนใจบ้านเมือง พระยาวชิรปราการจึงนำไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากค่ายพิชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยึดเมืองระยองได้สำเร็จ ระหว่างนั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ พายุหมุนอย่างรุนแรงจนบิดต้นตาลเป็นเกลียวโดยไม่คลายตัว ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ตาลขด" ขณะที่เหล่าเสนาบดี ทหารทั้งหลายก็ยกย่องพระยาวชิรปราการเป็น "เจ้าตาก"

หลังจากนั้น พระเจ้าตาก วางแผนจะเข้ายึดเมืองจันทบูร จึงสั่งให้ทหารทำลายหม้อข้าวให้หมด เพื่อปลุกขวัญกำลังใจทหารให้ฮึดสู้ตีเมืองจันทบูรให้แตก จะได้เข้าไปทานข้าวในเมือง จนสุดท้ายกองทัพพระเจ้าตากสามารถตีเมืองจันทบูรได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นก็ได้มีผู้คนมาเข้าร่วมกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่มีพม่าเข้ายึดครอ

กระทั่ง 3 เดือนผ่านไป พระองค์รวบรวมเสบียง และกำลังคนได้ราว 5,000 นาย จึงได้ยกทัพเรือล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยึดเมืองธนบุรีจากพม่าได้สำเร็จ จากนั้น พระองค์ได้ยกทัพเรือต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะสามารถเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น และขับไล่ทหารพม่าออกไปจากราชอาณาจักร สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จภายในเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่ที่เสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310

หลังจากนั้น พระองค์ได้ยกทัพกลับมาที่ธนบุรี ตั้งราชธานีใหม่ ณ ที่แห่งนี้ ขนานนามว่า"กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ในพระชนมายุ 34 พรรษา ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และพระราชกรณียกิจหลังจากนั้นของพระองค์ คือการปราบปรามก๊กต่าง ๆ ที่แตกแยกเป็นฝ่าย เพื่อรวบรวมให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากทำสงครามกับพม่

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงครองราชย์ได้ 15 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา โดยเหตุแห่งการสวรรคตปรากฎในเอกสารหลาย ๆ ฉบับและสาเหตุแตกต่างกัน แต่เหตุส่วนใหญ่ที่ปรากฎ คือ ในช่วงปลายรัชสมัยได้เกิดกบฏขึ้นที่อยุธยา เจ้าเมืองจึงหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังกรุงธนบุรี พร้อมบังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช เพื่อควบคุมพระองค์ไว้ในวัดอรุณราชวราราม

ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ซึ่งกำลังยกทัพไปเขมร ได้ยกทัพมายังกรุงธนบุรีก่อน และได้เข้าปราบปรามพระยาสรรค์ และขุนนางที่ก่อกบฏ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวโทษว่า พระองค์ทรงเสียพระสติ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ และเสด็จสวรรคต จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสืบต่อมา ส่วนพระยาสรรค์ก็ถูกนำตัวไปประหารชีวิต

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ได้ทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้งและทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง รวมทั้งทรงทำศึกกับเขมร 3 ครั้ง ส่วนพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ นอกจากการเมืองและการศึกสงครามแล้ว พระองค์ทรงฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การบำรุงการศึกษาตามวัด การรวบรวมพระไตรปิฎก อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางจากเวียงจันทน์ กลับมายังกรุงธนบุรี บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่ง ๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมทั้งยังพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ไว้ 4 ตอน

พระราชกรณียกิจเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถรอบด้านของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ทั้งนี้ ในทุกวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ทางกรุงเทพมหานครจะได้จัดงาน "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ขึ้น ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) และถนนลาดหญ้าตลอดสายถึงแยกคลองสาน ซึ่งมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบต่อไป

ข้อมูลจาก kapook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น