วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

 กบฏผีบุญ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนคนยากไร้


กบฏผีบุญ

เมื่อ 118 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์นองเลือดล้อมฆ่าคนอีสานแห่งมณฑลลาวกาว ในพื้นที่บ้านสะพือใหญ่ (ตระการพืชผล) ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองอุบลราชธานี (อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการมณฑล) มีราษฎรล้มตายในที่เกิดเหตุร่วม 300 คนเศษ ถูกจับกุมใส่ขื่อคา 400 คนเศษ นับเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยในโลกของอดีตเมื่อกว่าศตวรรษก่อน (อย่างมากก็ราวสองชั่วอายุคน)

ผมได้กลับมาทบทวน/ลำดับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ถูกลบทิ้ง ให้คนหนุ่มสาวทำงานเพื่อสังคมกลุ่ม ‘อีสานใหม่’ ได้ฟัง ใต้ร่มไม้หน้าเรือนภายใต้อากาศร้อนระอุของเมษายนที่เพิ่งจะผ่านไป
มันเป็นเหตุการณ์อันน่าอกสั่นขวัญแขวนของความตายจากอำนาจรัฐ ซึ่งคนรุ่นทวด ปู่ย่าตายาย คนต้นตระกูลของพวกเราชาวอีสานต่างเผชิญร่วมกันมา ขณะที่ผู้คนในรุ่นปัจจุบันต่างขาดการรับรู้ ขาดการศึกษาอดีตร่วมกัน เพื่อแก้ไข/เฝ้าระวังมิให้อุบัติซ้ำ เพื่อการก้าวเดินของสังคมในปัจจุบันและอนาคต ในนามราษฎรแห่งพระราชอาณาจักรไทย/ประเทศไทย เนื่องเพราะประวัติศาสตร์นี้ถูกลืม/จงใจลืม/ลบทิ้งจากหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ไทย
มันเป็นการลบความรุนแรงของรัฐต่อราษฎร ดั่งอีกหลายเหตุการณ์ในกาลต่อมา เพื่อการสร้างประเทศชาติ (Nation State) การก่อสร้างตัวตนของภูมิกายา (Geo-body) ด้วยภาพจากการจินตกรรม (Emagined) อันสวยงามด้วยภราดรภาพอันลึกซึ้งและเป็นแนวระนาบ
เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มจากการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งเข้ายึดครองดินแดนรายรอบสยาม พร้อมกับนำสัญญะ (Sign) ที่ชื่อ ‘แผนที่’ เข้ามาใช้ในการยึดครองและบีบให้สยามกำหนดเขตแดน/ขอบขัณฑสีมาให้ชัดเจน ร.5 จึงดำเนินการเพื่อจัดระเบียบหัวเมืองประเทศราช (ที่เคยมีความสัมพันธ์แค่ส่งส่วยหรือจัดทัพเพื่อช่วยทำศึกสงครามต่างๆ) และเข้าควบคุมยึดครองไว้เป็นของตน จึงส่งข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ไปประจำตามหัวเมืองทั้งเหนือ ใต้ – อีสาน
สำหรับดินแดนอีสาน กรุงเทพฯ ส่งเข้าประจำในหัวเมืองลาวฝ่ายต่างๆ รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (จำปาศักดิ์) และฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี) เป็น ‘หัวเมืองมณฑลลาวกาว’ ปกครองโดยกรมหลวงพิชิตปีชาการ ใน พ.ศ. 2434 (ร.ศ.110) กระทั่งหลังกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสในปี ร.ศ.112 (เย็น 13 กรกฎาคม 2436 โดยฝรั่งเศสนำเรือปืนมาปิดปากน้ำเจ้าพระยา) ร.5 จึงส่งข้าหลวงต่างพระองค์คนใหม่มาแทน คือ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (จากมณฑลลาวกลาง) พร้อมข้าราชการและทหาร 200 นายเข้ามาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ร.ศ. 112 โดยประจำ ณ ที่ทำการมณฑลในตัวเมืองอุบลราชธานี
ถัดมาไม่นาน ได้จัดงานราตรีสโมสรเชิญเจ้า/เจ้านายพร้อมครอบครัว มางานเลี้ยงและหัดทำขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมเบื้อง แหละงานนี้ทำให้ลูกสาวเจ้านายหลายคนได้เป็นหม่อม และชั่วเวลา 4 เดือนที่เสด็จมาก็ได้สู่ขอหม่อมเจียงคำ ธิดาท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั้น) กับนางดวงจันทร์ มาเป็นชายา
ในเวลา 7 ปี (ร.ศ. 119 หรือ พ.ศ. 2443) ที่กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสด็จมาประจำมณฑลลาวกาว ก็เกิดภัยแล้งติดต่อกันนาน 2-3 ปี พร้อมปฏิรูปการปกครองจากระบบกินเมือง-อัญญาสี่เป็นระบบเทศาภิบาล ให้ราษฎรทุกชาติพันธุ์ (ลาว เขมร ส่วย ผู้ไท) ถือสัญชาติ ‘ไทยบังคับสยาม’ และมีการเรียกเก็บภาษีอากรคนละ 4 บาท (ขณะนั้นไก่หนึ่งตัวราคา 1 สลึง) รวมไปถึงความขัดแย้งและการสูญเสียอำนาจเจ้านายเก่าของหัวเมืองในมณฑลลาวฝ่ายต่างๆ
นี่จึงเป็นสาเหตุของการรวมตัวก่อตั้งขบวนการกู้ชาติปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระจากการยึดครองของสยาม โดยแกนนำตั้งตนเป็นผู้มีบุญ (เรียก ‘องค์’) ขึ้นในแทบทุกพื้นที่ ส่งข่าวสื่อสาร/กระจายความคิดโดยใช้กลอนลำกับคำทำนายต่างๆ ขบวนการกบฏผู้มีบุญ (กรุงเทพฯขนานนามว่า-ผีบ้าผีบุญ) จึงมีทั้งราษฎร ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กรมการเมือง แพทย์ตำบล และพระสงฆ์ หัวหน้าเป็นคนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงชื่อ ‘องค์มั่น’ นอกจากนุ่งห่มขาวแล้วยังมีมงกุฎเป็นหมวกหนีบสักหลาดเป็นสัญลักษณ์ (เคยเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ปัจจุบันน่าจะไม่มีอยู่แล้ว) จำนวนของกลุ่มกบฏน่าจะอยู่ในราว 1,000-2,000 คน
กบฏเดินทัพทางไกลจากโขงเจียม (อุบลฯ) สู่บ้านด่าน (ตระการพืชผล) แล้วตั้งกองบัญชาการที่เขมราฐ (อุบลฯ) เคยมีการระดมกองทหารและราษฎรจากนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ร่วมพันกว่าไปปราบแล้วเกิดการปะทะกันที่เสลภูมิ (ยโสธร) แต่ก็มิอาจยับยั้งได้
จึงได้จัดกำลังพลใหม่จากอุบลฯ โดยใช้กองทหารเพียงกว่าหนึ่งร้อยนาย พร้อมปืนใหญ่ 2 กระบอก เดินทางไปบ้านสะพือใหญ่ (ตระการพืชผล) เพื่อปราบปรามขั้นเด็ดขาด
วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2444 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีฉลู เวลา 9 นาฬิกา ณ บ้านสะพือใหญ่ บริเวณทางมุ่งสู่เมืองอุบลฯ อันรกแคบมีป่าทึบสองข้าง ซึ่งเหมาะกับการซุ่มโจมตีกองกำลังกบฏที่กำลังออกเดินทางไปตีเมืองอุบลฯ ด้วยอำนาจการทำลายล้างของกระสุนปืนใหญ่สามลูก แล้วกระหน่ำซ้ำด้วยกระสุนปืนเล็กยาว กองกำลังกบฏซึ่งมีเพียงปืนแก๊ปปืนคาบศิลามีดพร้าจึงแตกพ่ายยับเยิน มีกบฏล้มตายในที่เกิดเหตุ 300 คนเศษ ถูกจับใส่ขื่อคานำมาตากแดดฝน ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลฯ ราว 400 คนเศษ
สองสามวันต่อมาจึงพิพากษาทุกคน แกนนำ (องค์) 5 คนในอุบลฯ ถูกประหารเสียบประจาน ณ ภูมิลำเนาที่เกิดเหตุ แกนนำบางคนประหารเสียบประจาน ณ ทุ่งศรีเมือง กรมการเมืองอำนาจเจริญถูกจำคุกและเสียชีวิตในคุก พระสงฆ์ถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในวัดเมืองอุบลฯ องค์มั่นหนีข้ามโขงไปได้ ศพที่ถูกประหารถูกทิ้งลงบ่อน้ำ ส่วนหนึ่ง (เชื่อว่า) ทิ้งประจานลงแม่น้ำมูลหน้าเมือง และกบฏส่วนหนึ่งถูกเนรเทศไปจำคุกที่มณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2454 ได้แหกคุกเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏผู้วิเศษ ทั้งในและนอกเขตมณฑลปัตตานี ทำหน้าที่เป็น ‘เสนาธิการ’ ในการพาพลพรรคยึดปืนราชการกว่า 600 กระบอก เข้าโจมตีหน่วยราชการอย่างรุนแรงครั้งแรกของภาคใต้
เมอร์สิเออร์ลอร์เรน ชาวฝรั่งเศสที่ปรึกษากฎหมายของมณฑลทูลถามข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ว่า มีอำนาจอย่างไรจึงประหารชีวิตราษฎรก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต แล้วได้รับคำตอบว่า นำความไปกราบบังคมทูลที่กรุงเทพฯ เอาเอง อีกฝ่ายจึงเงียบไป
นับตั้งแต่นั้นขบวนการ ‘ผีบ้าผีบุญ’ จึงเหลือแค่ตำนานบอกเล่าปากต่อปาก ไร้การกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ชาติหรือท้องถิ่น ถูกลืมเลือน มองข้ามและลบทิ้งอย่างไร้คนแยแสใส่ใจ กลายเป็นการกุข่าว สร้างเรื่องเพื่อทำลายชาติสร้างความแตกแยกในประเทศ หรือเป็นเรื่องของคนโง่คนบ้าล้าหลังไม่กี่คนเท่านั้น ผีเหล่านี้จึงไร้ที่อยู่ที่ยืน เป็นผีที่เหงาอ้างว้างที่สุดในโลก อันเป็นการหมิ่นแคลนเกียรติยศศักดิ์ศรีของคน แม้จะคิดต่าง/อยู่ห่างไกล/ยากไร้ ทว่าผมกลับเชื่อว่า ‘ผีบ้าผีบุญ’ ยังไม่ตาย
ดังจะเห็นได้จากบทบาทของกลุ่มก้อนสมาชิกผู้แทนราษฎรอีสาน นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ขบวนการเสรีไทยในเขตอีสานช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการ/ฐานที่มั่นและวันเสียงปืนแตกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2508 ขบวนการคนเสื้อแดงในทศวรรษ 2550 ผลงานวรรณกรรมของนักคิดนักเขียนอีสาน รวมถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวทำงานเพื่อสังคม ที่นั่งฟังและซักถามผมในวันนั้น
"ข้อยถือพร้าเดินตีนเปล่าโค่นเจ้านาย
แต่ล้มตายศพลืมตาใต้ฟ้าค่ำ
กี่ปืนใหญ่ กระสุนฆ่าคนป่าดำ
กี่ขื่อคาเข้าจองจำย่ำย่อยยับ"

ทว่า ‘ผีบ้าผีบุญ’ ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่.
บทความโดย มาโนช พรหมสิงห์

#ภาพขบถผีบุญ ถูกจับมารวมกันไว้ที่ทุ่งศรีเมือง เดือนเมษายน ปีพ.ศ.2444

#บรรณานุกรม
ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ / สนพ.ธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม “กบฏไพร่”/ ปีที่ 31 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2553
กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ ของ ธงชัย วินิจจะกูล / สนพ.อ่านและสนพ.คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556

edit : thongkm_virut@yahoo.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น